ลูกเต๋า : การละเล่นโบราณ ? ในวัฒนธรรมทวารวดี ที่เมืองอู่ทอง
จำนวนผู้เข้าชม 1790

           บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีการขุดพบลูกเต๋าโบราณทำจากดินเผา กระดูกสัตว์ และงาช้าง มีรูปทรง ๒ ลักษณะ ได้แก่ ลูกเต๋าทรงลูกบาศก์ (สี่เหลี่ยมจัตุรัส) ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับลูกเต๋าในปัจจุบัน คือ เป็นลูกเต๋าที่มี ๖ ด้าน แต่ละด้านมีรอยขูดขีดลึกลงไปเป็นจุดกลม ๑ ถึง ๖ จุด และรูปทรงอีกแบบหนึ่งมีลักษณะเป็นแท่งยาวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี ๔ ด้าน แต่ละด้านสลักเป็นจุดวงกลมล้อมรอบด้วยเส้นวงกลมหลายเส้น ด้านละ ๑, ๒, ๓ และ ๔ จุด ตามลำดับ
           ลูกเต๋าโบราณทั้งสองแบบ ได้พบแพร่หลายในหลายพื้นที่ ทั้งในดินแดนตะวันออกกลาง (อาณาจักรเปอร์เชีย) ยุโรป รวมทั้งดินแดนชมพูทวีป (อินเดียตอนเหนือและพื้นที่ด้านตะวันตก)
           จากการค้นพบลูกเต๋าตามแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ทำให้สันนิษฐานว่า ลูกเต๋าเป็นอุปกรณ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการละเล่น กีฬา หรือการพนัน ในอินเดียได้พบลูกเต๋าทรงลูกบาศก์ ตั้งแต่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุหรือในวัฒนธรรมยุคทองแดง อายุ ๔,๕๐๐ – ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว (๓,๐๐๐ – ๒,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) ในบางแห่งขุดพบลูกเต๋าร่วมกับแผ่นดินเผาที่มีการตีเส้นตาราง สันนิษฐานว่าใช้เป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการละเล่นหรือกีฬาของคนสมัยโบราณ และอาจเป็นต้นเค้าของกีฬาหมากรุกในปัจจุบัน ในอินเดียได้พบลูกเต๋าแพร่หลายมากในชั้นวัฒนธรรมสมัยราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะ (สมัยเหล็กตอนปลาย) ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓-๗ (ประมาณ ๑,๙๐๐ - ๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว) ต่อเนื่องมาถึงสมัยคุปตะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ (ประมาณ ๑,๖๐๐ - ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว)
           ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ยังพบลูกเต๋าที่แหล่งโบราณคดีเนินมะกอก อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และที่แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค ในพื้นที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐ หรือเมื่อ ๑,๖๐๐ – ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว)
           การค้นพบลูกเต๋าที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชาวอินเดียในช่วงก่อนสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๐ แสดงถึงความสำคัญในฐานะเมืองท่าค้าขายช่วงเวลานั้น


















--------------------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
--------------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. เนินมะกอก : รายงานเบื้องต้นเฉพาะเรื่องชั้นดินและหลักฐานโบราณคดีบางประเภท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๓๒. กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕. ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, ๒๕๔๒. Alex Fox. Ancient Roman Board Game found in Norwegian Burial Mound: researchers unearthed a four-sided dice and 18 circular tokens. [Online.] Available from https://www.smithsonianmag.com/smart-news/ancient-roman-board-game-unearthed-norway-180975082/ Shahid Naeem. An Ancient Indus Die. [Online.] Available from https://www.harappa.com/blog/ancient-indus-die [June 15th, 2015] Shahr-e-Sukhteh: the Burnt City. [Online.] Available from http://turquoisedomes.com/2020/01/24/shahr-e-sukhteh/ [January 24, 2020.]