พระนครคีรีในฝีพระหัตถ์สมเด็จครู (ตอนจบ)
จำนวนผู้เข้าชม 719

 

         สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสนพระทัยในศิลปวิทยาการหลายแขนง โดยเฉพาะในทางศิลปะ ดนตรี ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในรัชกาลที่ ๕ ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราชในหลายด้าน ถึงปลายรัชกาลจึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการด้วยเหตุที่พระสุขภาพทรุดโทรม ไม่อาจทำราชการได้ทันตามพระราชประสงค์ เมื่อทรงว่างจากราชการประจำแล้ว ทรงมีเวลาว่างมากขึ้น จึงได้ทรงสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะเรื่อยมา ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลานี้ ทรงมีลายพระหัตถ์ไปยังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเชษฐาซึ่งทรงรอบรู้ในสรรพวิทยาโดยเฉพาะทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ลายพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์ มีมากขึ้นเมื่อทั้งสองพระองค์ทรงพ้นจากราชการทั้งหลายแล้ว และมีเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความรู้ ไม่เฉพาะสิ่งที่ทั้งสองพระองค์สนพระทัยเท่านั้น หากยังมีเรื่องราวที่สะท้อนภาพของสังคม วัฒนธรรมในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี ลายพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์ ในเวลาต่อมาทายาทได้รวบรวมจัดพิมพ์ และรู้จักกันในชื่อหนังสือเรื่อง “สาส์นสมเด็จ” 

          ในลายพระหัตถ์ “สาส์นสมเด็จ” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีไปถึงสมเด็จฯเจ้าฟ้านริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๔ มีเนื้อความเกี่ยวข้องกับ “พัดวไลย” ดังนี้

 

 บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

... หม่อมฉันได้รับหนังสือแจกงานพระศพทูลกระหม่อมหญิงวลัย ชุด ๑ เห็นใบปกสมุดเล่ม ๑ มีรูปพระสถูปเป็นประธาน แต่แรกเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายพระธรรมปริยายที่พิมพ์ในสมุดเล่มนั้น พิจารณาไปเห็นรูปกำไลก้านบัว ๒ วงกับดอกประจำยามอยู่ข้างใต้ ได้เค้าว่าหมายว่า “วลัยกับอลงกร” แลกลับขึ้นไปดูรูปพระสถูปเห็นมีช่องคูอยู่ที่ฐานก็รู้ได้ว่าเขาหมายจะทำรูป “พระธาตุจอมเพชร์” บนยอดเขามหาสวรรค์ที่เมืองเพชร์บุรีเป็นเครื่องหมายนามกรมหลวงเพชรบุรี ก็ต้องชมว่าเขาช่างคิดเลือกจะหารูปสิ่งอื่นหมายให้เหมาะกว่าเห็นจะไม่มี...

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ดำรงราชานุภาพ

 

          ลายพระหัตถ์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ทราบว่า ผลงานออกแบบของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นอกจากที่ใช้เป็นแบบของพัดรองที่ระลึก เนื่องในงานพระเมรุพระราชเพลิงพระศพแล้ว ยังใช้เป็นภาพปกของหนังสือที่ระลึกเนื่องในงานพระเมรุครั้งนั้นด้วย โดยหนังสือดังกล่าว คือหนังสือเรื่อง “ประชุมโอวาท คณะครูโรงเรียนราชินี พิมพ์น้อมเกล้าสนองพระเดชพระคุณ สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร งานพระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ.๒๔๘๔” สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ “สนองลายพระหัตถ์” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า 

 

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

...สนองลายพระหัตถ์ (ฉบับหลัง)

...พระตราทูลกระหม่อมหญิงเพชรบุรี ซึ่งมีพระธาตุจอมเพชรอยู่ด้วยนั้นเป็นของเกล้ากระหม่อมคิดขึ้นเอง สมเด็จพระพันวัสสาตรัสสั่่งมาให้เขียนพัด เมื่อเขียนถวายไปแล้วโรงเรียนราชินีเขาก็ถ่ายทำเป็นใบปกหนังสือไปอีกต่อหนึ่ง ในการที่เกล้ากระหม่อมทำนั้นคิดหลบสิ่งที่เป็นของพระบรมราชาฯ เหตุด้วยมีกฎหมายบังคับ ว่าถ้าทำแล้วให้ขอพระบรมราชานุญาตก่อน เห็นว่าขอพระบรมราชานุญาตนั้นลำบาก จึงไปฉวยเอาพระธาตุจอมเพชรมาทำ ฝ่าพระบาทก็เก่งทายาดที่ทรงทราบได้ว่าพระธาตุจอมเพชร ภายใต้นั้นตั้งใจจะทำเป็นกลุ่มใบตาล เป็นเขาเป็นดงตาลเสร็จไปในตัว แต่ตาไม่เห็นลำบากในการเขียน ต้องหาคนช่วย ต่อลงสีแล้ว จึงเห็นว่ามันบางกะหรอนไปจนเกือบจะไม่เห็นว่าเป็นกลุ่มใบตาล เพราะสีทำให้จะแจ้งขึ้น จะแก้ก็ไม่ทราบว่างานจะช้า กลัวจะไม่ทันการ จึ่งปล่อยไปเลยตามเลย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

นริศ

 

          จากลายพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์ข้างต้น เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี ถึงข้อสันนิษฐาน ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีเมื่อได้เห็นภาพปกหนังสือดังกล่าวว่าเป็นพระธาตุจอมเพชร บนพระนครคีรี และต่อมาสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงอธิบายถึงที่มาของแนวคิดในการออกแบบพัดรองที่ระลึก เนื่องในงานพระเมรุ สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร ว่า ทรงเลี่ยงการใช้สิ่งซึ่งต้องพระราชทานพระบรมราชานุญาต ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทรงเลือกใช้ภาพพระธาตุจอมเพชร พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรีมาเป็นภาพหลักในพัดรองดังกล่าว เพราะมีความสอดคล้องกับพระนาม “กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร” นั่นเอง นอกจจากนี้ ยังทรงแทรกภาพของภูเขา และใบตาล อันหมายถึงเขามหาสวรรค์ และต้นตาล ต้นไม้ที่มีอยู่มากในท้องที่จังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ตรัสถึงเรื่อง “พัดวไลย” โดยทรงยกย่องในความคิดเรื่องการออกแบบพัดรอง ดังความว่า 

 

 บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

...ตราพัดรองงานพระศพทูลกระหม่อมหญิงกรมหลวงเพชรบุรีนั้น หญิงพิลัยเธอตีความที่หม่อมฉันยังคิดไม่เห็นออกอีกอย่าง ๑ ที่มีวงจักร์ต่อกำไลก้านบัวหมายเป็นอักษร ว ข้าง ๑ เป็นอักษร อ ข้าง ๑ ที่หม่อมฉันทูลชมตรานั้นนับได้ว่าชมอย่างบริสุทธิ์ เพราะเมื่อชมไม่รู้ว่าใครคิด ถ้ารู้ก่อนว่าเป็นพระดำริของท่าน คำชมก็ระคนด้วยความนับถือส่วนพระองค์ท่านหาบริสุทธิ์ปลอดบัลลัยทีเดียวไม่...

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ดำรงราชานุภาพ

 

         หนังสือ “สาส์นสมเด็จ” นอกจากจะเป็นลายพระหัตถ์ที่เจ้านายทั้งสองพระองค์ทรงแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ศิลปะแขนงต่างๆ แล้ว ยังมีเรื่องราวของเหตุการณ์บ้านเมือง ตลอดจนสภาพสังคมเมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้วที่น่าสนใจอย่างยิ่ง “สมเด็จ” ทั้งสองพระองค์ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ๒๔๕๗ จนกระทั่งปี ๒๔๘๖ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์จึงเป็นอันสิ้นสุด และทรงมีลายพระหัตถ์สุดท้าย ประทานแก่หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม  ดิศกุล ความว่า 

 

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

๒๒ ธันวาคม ๒๔๘๖

หญิงจง

ที่ให้ลายพระหัตถ์เด็จพ่อนั้นดีเต็มที ในเรื่องเรือนคนทำตามประเทศนั้นดีมาก ถ้าหาไม่ก็จะเขียนหนังสือกราบทูลถวาย เสียดายเต็มทีที่สิ้นพระชนม์เสีย จะกราบทูลอะไรไม่ได้ทั้งนั้น

นริศ

 

อ้างอิง 

สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๘๔. โครงการห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๔, 

จาก: https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๔

สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๘๖. โครงการห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๔, 

จาก: https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๖/ธันวาคม  

ราชินี, โรงเรียน. ประชุมโอวาท.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยเขษม, ๒๔๘๔. (คณะครูโรงเรียนราชินี พิมพ์น้อมเกล้าฯ 

ถวายสนองพระเดชพระคุณ สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราช       สิรินธร งานพระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๘๔)

ภาพประกอบ 

ภาพปกหนังสือ “ประชุมโอวาท” ซึ่งโรงเรียนราชินี จัดพิมพ์สนองพระเดชพระคุณ ในงานพระเมรุ สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีสิรินธร พุทธศักราช ๒๔๘๔