๑๓ โบราณวัตถุ ต้องห้ามพลาด ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
จำนวนผู้เข้าชม 1613

โบราณวัตถุทั้ง ๑๓ ชิ้นที่ต้องห้ามพลาด เมื่อมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ได้แก่
๑. งาช้างดำ เป็นโบราณวัตถุคู่บ้าน คู่เมืองน่าน ที่อยู่คู่กับหอคำหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน มาจนถึงปัจจุบัน
๒. อาณาจักรหลักคำ หรือ กฎหมายเมืองน่าน เขียนขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๖ โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๖๒ เพื่อใช้เป็นกฎหมายเฉพาะของเมืองน่าน และเมืองต่างๆ ที่ขึ้นกับเมืองน่าน
๓. พระสุพรรณบัฏ จารึกพระนามเพื่อเลื่อนฐานันดรศักดิ์ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๖๓ ผู้สร้างหอคำหรือคุ้มหลวงเมืองน่าน ๔. ตราประทับรูปโคอุสุภราช ทำจากงาช้าง ใช้เป็นตราเมือง สำหรับประทับในหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานและหนังสือราชการงานเมืองต่างๆ ๕. ศิลาจารึกหลักที่ ๖๔ จากวัดพระธาตุช้างค้ำฯ กล่าวถึงการกระทำสัตย์สาบานเป็นมิตรไมตรีต่อกันระหว่างเจ้าผู้ครองนครน่านและกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย
๖. ศิลาจารึกหลักที่ ๗๔ กล่าวถึงการบูรณะซ่อมแซมวัดหลวงกลางเวียงหรือวัดพระธาตุช้างค้ำฯ โดยพญาพลเทพฤาชัย
๗. พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ศิลปะอยุธยา อายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ทำจากไม้ ลงรักปิดทอง ได้จากโบสถ์วัดท่าปลา บริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
๘. พระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืน ศิลปะล้านนา อายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ทำด้วยไม้ ลงรักปิดทอง จากวัดบุญยืน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน สันนิษฐานว่าเจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๕๗ คงให้สร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับวิหารวัดบุญยืน
๙. หีบพระธรรม จากวัดบุญยืน อำเภอเวียงสา ทำจากไม้ลงรักปิดทอง สลักภาพนูนต่ำเรื่องพระเจ้าสิริจุฑามณี มีจารึกระบุว่าพระเถระชื่อทิพพาลังการ และเจ้าผู้ครองนครน่าน (เจ้าอัตถวรปัญโญ) ให้สร้างขึ้นเมื่อ จ.ศ. ๑๑๕๗ หรือ พ.ศ. ๒๓๓๘
๑๐. ปัญจรูป สัตว์ในความเชื่อของพม่า มีลักษณะเป็นสัตว์ผสม ๕ ชนิด ได้แก่ มีหัวเป็นสิงห์ มีงวงและงาเป็นช้าง มีขาและเขาเป็นกวาง มีปีกเป็นหงส์ มีลำตัวและหางเป็นปลา บ้างก็ว่าลำตัวเป็นพญานาค
๑๑. หน้ากากฝาโลงไม้ สมัยก่อนประวัติศาสตร์มีลักษณะพิเศษของส่วนฝาโลง ซึ่งแกะสลักเป็นรูปนูนต่ำคล้ายคนหรือสัตว์ ไม่เคยพบที่ใดมาก่อนในประเทศไทย ได้จากถ้ำผาเวียง ๓ หรือถ้ำหีบ ตำบลส้าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ๑๒. กลองมโหระทึก สำริด อายุประมาณ ๒,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว พบจำนวน ๒ ใบ ที่บ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ๑๓. ซิ่นลายน้ำไหล มีลักษณะลวดลาย ที่จำลองภาพของสายน้ำหรือคลื่นน้ำ ซึ่งมีลักษณะเคลื่อนไหวและมีชีวิตชีวา เป็นเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นเมืองน่านรูปแบบหนึ่ง






























--------------------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : Nan national Museum พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน https://www.facebook.com/1116844555110984/posts/3557601037701978/