ตู้ไทยโบราณของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
จำนวนผู้เข้าชม 5975



          ตู้ลายทองหรือตู้พระธรรม เป็นตู้ไทยโบราณ คือตู้ที่มีลักษณะเป็นแบบฉบับของไทย ซึ่งคนไทยใช้มาแต่โบราณ ลักษณะของตู้อยู่ในทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ด้านบนสอบและแคบกว่าด้านล่าง ความสูงของตู้อยู่ระหว่าง ๑๐๐ – ๒๘๘ เซนติเมตร ด้านกว้างระหว่าง ๘๐ – ๒๐๐ เซนติเมตร ด้านข้างกว้างระหว่าง ๕๗ – ๑๘๐ เซนติเมตร ด้านที่ใช้เปิดและปิดประตู คือด้านหน้า ซึ่งมีบานประตูตู้ติดบานพับ จำนวน ๒ บาน ต่อมาในสมัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำริให้ช่างทำประตูตู้ติดกระจกทางด้านหลังตู้เฉพาะตู้ที่ด้านหลังไม่มีลาย เพื่อใช้เปิดปิดแทนด้านหน้า ป้องกันมิให้ภาพลายทองบริเวณประตูตู้หมองหรือเสียหาย ภายในตู้มีชั้นไม้สำหรับวางคัมภีร์ใบลาน โดยเฉลี่ยประมาณ ๓ ชั้น ไม่มีการตกแต่งลวดลาย ส่วนใหญ่มักจะลงรักแดงทึบ
          ขอบตู้ด้านบนตกแต่งด้วยลายหรือจำหลักลายรูปบัวหงายเหนือขอบตู้ขึ้นไป บางตู้มีเสาหัวเม็ดทรงมันอยู่ทั้ง ๔ มุม
          ขอบตู้ด้านล่างอยู่เหนือส่วนที่นิยมตกแต่งเป็นรูปบัวหงาย แต่บางตู้ตกแต่งด้วยลายบัวคว่ำก็มี ใต้ขอบล่างของตู้ลงมามีขาตู้ ซึ่งใช้เรียกชื่อตู้ไทยโบราณประเภทต่างๆ แบ่งได้เป็น ๗ ประเภท คือ
          ๑. ตู้ขาหมู ขาของตู้เป็นขาสี่เหลี่ยม ช่างมักตกแต่งเชิงตู้เป็นรูปปากสิงห์หรือหูช้าง ตกแต่งด้วยลายต่างๆ หรือไม่ตกแต่งเลย
          ๒. ตู้ขาหมูมีลิ้นชัก เป็นการเพิ่มส่วนลิ้นชักเข้าไปในประเภทแรก โดยทำเป็นกรอบลิ้นชักอยู่ใต้ขอบล่างของตู้ เชิงตู้ของบางตู้เป็นรูปหูช้างหรือปากสิงห์และบางตู้ไม่ตกแต่งเลยก็มี
          ๓. ตู้ขาหมูแฝด แบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ ๓.๑ ตู้ขาหมูแฝดติดกัน ๒ ตู้ มีบานประตูด้านหน้า ๔ บาน และมีอยู่ ๔ ตู้เท่านั้น แต่ละตู้สูง ๒๑๖ เซนติเมตร (ตู้ กท.๑๒) ๓.๒ ตู้ขาหมูแฝดสี่ตู้ โดยแต่ละตู้ไม่ได้สร้างติดกัน แต่เขียนภาพเล่าเรื่องสืบเนื่องกัน แต่ละตู้สูง ๒๔๕ นับเป็นตู้ไทยโบราณที่สูงที่สุดเท่าที่ปรากฏ (ตู้ กท.๗๙)
          ๔. ตู้เท้าสิงห์ ขาตู้ทั้ง ๔ ขา จำหลักเป็นรูปเท้าสิงห์ และบางตู้พิเศษขึ้นไปอีกโดยจำหลักเป็นรูปเท้า สิงห์เหยียบบนลูกแก้ว
          ๕. ตู้เท้าสิงห์มีลิ้นชัก เพิ่มส่วนที่เป็นลิ้นชักโดยเจาะกรอบลิ้นชักด้านหน้าเพื่อใส่ตัวลิ้นชัก
          ๖. ตู้ฐานสิงห์ ทำฐานตู้เป็นรูปฐานสิงห์ จำหลักลายและประดับตกแต่งด้วยลวดลายที่งดงาม
๗. ตู้เท้าคู้ ขาของตู้ตอนบนส่วนที่ต่อจากขอบล่างของตู้จะทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม และลบเหลี่ยมนอกตรง มุมตู้ โดยบากขาตู้ตอนล่างโค้งคู้เข้าหาพื้นตู้ ขาตู้ประเภทนี้นิยมทำในสมัยรัตนโกสินทร์


ตัวอย่างตู้พระธรรมเท้าสิงห์ สมัยรัตนโกสินทร์

          การกำหนดอายุสมัยของตู้ไทยโบราณ นักปราชญ์ราชบัณฑิต ได้กำหนดอายุสมัยของตู้ไทยโบราณออกเป็น ๓ สมัย คือ ๑. สมัยอยุธยา ๒. สมัยธนบุรี ๓. สมัยรัตนโกสินทร์
          สิ่งที่ใช้พิจารณาแบ่งสมัยของศิลปะลายไทยที่ใช้ตกแต่งตู้ก็คือความอ่อนช้อยของเส้นกนก
          สมัยอยุธยา ทำตัวกนกใหญ่และนิยมทำช่อโต แต่เส้นกนกมีความคม ดูอ่อนช้อยและเคลื่อนไหวมาก เถากนกจะเริ่มจากส่วนใดของตู้ก็ได้ ตัวกนกแตกเถาระยิบระยับและศิลปินมีอิสระในการออกแบบลาย ไม่มีกฎเกณฑ์บังคับการวางลาย การเขียนลายจึงเป็นไปตามจินตนาการของช่าง จังหวะกนกจึงไม่ซ้ำกัน แต่จะมีความละเอียดอ่อน


ตู้พระธรรมสมัยอยุธยา

          สมัยธนบุรี เป็นระยะคาบเกี่ยวยังได้รับอิทธิพลจากช่างฝีมือสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าช่างฝีมือที่เขียนลายรดน้ำในสมัยธนบุรี อาจจะเป็นช่างฝีมือในสมัยอยุธยาที่มีอายุสืบมา เพราะฝีมือการเขียนลายไทยในสมัยกรุงธนบุรีละม้ายคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยา เปลวกนกถึงแม้จะแตกเถาน้อยกว่าสมัยอยุธยา แต่มีความอ่อนไหวมากกว่าเปลวกนกในสมัยรัตนโกสินทร์


ตู้พระธรรมสมัยธนบุรี พ.ศ. ๒๓๒๐

          สมัยรัตนโกสินทร์ นิยมทำเถาของกนกยาวจากขอบล่างของตู้พุ่งเถากนกขึ้นไปจรดหรือเกือบจรดขอบบนของตู้ ตัวกนกอ้วนสั้นหรือป้อม มีความอ่อนไหวน้อยลง ช่องว่างระหว่างตัวกนกมีความถี่มาก ทำให้ดูราวกับว่าเส้นกนกอยู่ในกรอบหรือเป็นแผงกนก ซึ่งถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ จึงทำให้ดูค่อนข้างจะขึงขังและกระด้าง แต่ก็เป็นความงามที่เป็นลักษณะเฉพาะของลายกนกในสมัยรัตนโกสินทร์


ตู้พระธรรมสมัยรัตนโกสินทร์

          ลักษณะการตกแต่งตู้ไทยโบราณ มีวิธีการตกแต่งตู้ไทยโบราณหลายรูปแบบ ทำให้เกิดการเรียกประเภทของตู้ตามลักษณะการตกแต่ง ดังนี้           ๑. ตู้ลายรดน้ำ เกิดจากการเขียนน้ำยาและปิดทองรดน้ำ ลวดลายหรือรูปภาพที่ได้จะมีเพียงสีทอง ซึ่งดูเหลืองอร่ามบนพื้นรักสีดำทึบ เรียกกรรมวิธีการตกแต่งนี้ว่า เขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ เรียกสั้นๆว่าตู้ลายรดน้ำ และเนื่องจากคนไทยโบราณนิยมใช้ตู้ลายรดน้ำเป็นที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก จึงนิยมเรียกชื่อตู้อีกอย่างหนึ่งว่า ตู้พระธรรมลายรดน้ำ หรือตู้พระธรรม ลวดลายที่นิยมตกแต่งตู้ได้แก่ ลายกนกต่างๆ ลายพันธ์พฤกษา ลายดอกพุดตานเถา ลายดอกเบญจมาศ หรือเป็นภาพเล่าเรื่อง เช่น ภาพพุทธประวัติ ภาพชาดก หรือภาพที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เป็นต้น
          ๒. ตู้ไม้จำหลัก จำหลักไม้เป็นลายต่างๆ เช่นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายดอกพุดตาน ลายประแจจีน เป็นต้น มีการประดับกระจกสี ตกแต่งลายที่ลงทองทึบ กระจกสีที่ใช้มีหลายสี เช่น ขาว แดง น้ำเงิน เขียว เหลือง การประดับกระจกสีนั้น ช่างจะจำหลักให้เป็นรอยลึกลงไปในเนื้อไม้ เพื่อฝังกระจกลงไป สีของทองคำเปลวและสีของกระจกที่ประดับทำให้ดูระยิบระยับงดงาม
          ๓. ตู้ลายกำมะลอ ตู้ที่ตกแต่งด้วยภาพเขียนลายกำมะลอ คือ ภาพที่ระบายด้วยสีหม่นๆ เพียงไม่กี่สี เช่น สีแดง สีเทา สีขาว สีเทา สีเหลือง สีเขียว ซึ่งพื้นหลังลงรักดำทึบเป็นส่วนใหญ่ สีของภาพเขียนลายกำมะลอดูหม่นกลมกลืนกัน และนิยมปิดทองบนลายกำมะลอ ทำให้สีทองขับพื้นดำดูลออตายิ่งขึ้น ตู้ลายกำมะลอเหล่านี้ ช่างนิยมเขียนเป็นภาพทิวทัศน์ ภาพที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
          ๔. ตู้ทองทึบ คือ ตู้ที่ตกแต่งด้วยการลงรักปิดทองทึบ ให้ดูเหลืองอร่ามหมดทั้งตู้ โดยไม่ได้เขียนลวดลายตกแต่งใดๆ ทั้งสิ้น
          ๕. ตู้กระแหนะรักสมุก คือ ตู้ที่ตกแต่งด้วยลวดลายที่เกิดจากการใช้แบบพิมพ์ ตีลายด้วยรักสมุก แล้วจึงนำแผ่นลายนั้นๆ ไปประดับตกแต่งตู้
          ๖. ตู้ประดับมุก เป็นเทคนิคอีกแบบคือ การประดับมุก ซึ่งมีทั้งการตกแต่งด้วยมุกล้วนๆ เป็นภาพศิลปะลายไทยและภาพเล่าเรื่อง และการประดับลายด้วยมุกแกมกระจก หรือที่เรียกว่ามุกแกมเบื้อ อีกด้วย งานศิลปกรรมประดับมุกนี้เป็นงานที่ช่างต้องมีความชำนาญ มีฝีมือประณีตละเมียดละไม
           ๗. ตู้ภาพเขียนสี เขียนภาพสีตกแต่งตู้ด้วยภาพแบบไทยและแบบจีน เช่นภาพทวารบาล ภาพนักรบจีน ภาพสัญลักษณ์ ฮก ลก ซิ่ว และลายเมฆ เป็นต้น


ตัวอย่างตู้พระธรรมภาพเขียนสี สมัยรัตนโกสินทร์

          ข้อมูลนี้เป็นองค์ความรู้เบื้องต้นของตู้ไทยโบราณที่เก็บรักษาอยู่ในสำนักหอสมุดแห่งชาติ ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดสามารถศึกษาได้จากหนังสือตู้ลายทอง ที่จัดพิมพ์โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติกรมศิลปากร และที่ฐานข้อมูล http://manuscript.nlt.go.th

------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ ภาพประกอบโดย นายสันติ วงศ์จรูญลักษณ์ นักภาษาโบราณชำนาญการ
------------------------------------------------------------------

บรรณานุกรม
นิยะดา ทาสุคนธ์. ตู้ไทยโบราณ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๓๙. (ฉบับอัดสำเนา).