ผลการประกวดเพลง “เพชรในเพลง” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๕๖๔
วันที่ประกาศ : 27/07/2564 00:00 น. จำนวนผู้เข้าชม 1211


          รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงสนพระราชหฤทัยและห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนไทย ทั้งทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องเหมาะสม และเป็นการน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในการทรงงานเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการและแนวพระราชดำริต่างๆของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมในวันดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
          กรมศิลปากร โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมการประกวดเพลง “เพชรในเพลง” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงผู้มีผลงานดีเด่นด้านการใช้ภาษาไทย และสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีคุณภาพ ทั้งการประพันธ์คำร้องและผู้ขับร้อง เนื่องจากเห็นว่าวงการเพลงเป็นวงการหนึ่งที่สะท้อนภาพและมีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาไทยของเยาวชนและคนไทยในปัจจุบัน การพิจารณามอบรางวัลแก่นักร้อง นักแต่งเพลง ที่เป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ จึงเท่ากับเป็นการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยทางหนึ่ง
          สำหรับผลการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) โดยกรมศิลปากร(ศก.) มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 19 รางวัล ดังนี้
          1.รางวัลเชิดชูเกียรติ ประกอบด้วยรางวัลเชิดชูเกียรติ องค์กรสนับสนุนวัฒนธรรมดนตรีไทย ได้แก่ มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)และรางวัลเชิดชูเกียรติ โครงการสืบสานเพลงไทยประทับใจในอดีต ได้แก่ โครงการ “ศาลาเฉลิมกรุง...สืบสานตำนานเพลง”
          2.รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ (2.1) การประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงศิลปินแห่งชาติ ผู้ประพันธ์ นายชัยรัตน์ วงศ์เกียรติ์ขจร และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงลม ผู้ประพันธ์ นายณพสิน แสงสุวรรณ (หนุ่ม กะลา) (2.2) การประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงแรงก้อนสุดท้าย ผู้ประพันธ์ นายสลา คุณวุฒิ และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงแม่นั่งแลทาง ผู้ประพันธ์ น.ส.ธนภัค สิทธิชัย (ดวงพร สิทธิชัย) และ(2.3) การประพันธ์คำร้องเพลงเพื่อชีวิต รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ เพลงซากไม้ชายน้ำ ผู้ประพันธ์ นายพยัพ คำพันธุ์ และเพลงเขาเป็นหญิง เธอเป็นชาย ผู้ประพันธ์ นายสุทธิยงค์ เมฆวัฒนา (เทียรี่ เมฆวัฒนา)
          3.รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย (3.1)การขับร้องเพลงไทยสากลชาย รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ เพลงให้โลกได้เห็น (น้ำใจคนไทย) ผู้ขับร้อง นายธงไชย แมคอินไตย์ (เบิร์ด ธงไชย)และเพลงลม ผู้ขับร้อง นายณพสิน แสงสุวรรณ (หนุ่ม กะลา) (3.2)การขับร้องเพลงไทยสากลหญิง รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ เพลงลมหายใจ ผู้ขับร้อง น.ส.ณัฐธิกา เอี่ยมท่าไม้ และเพลงบัวขาว ผู้ขับร้อง น.ส.สาธิดา พรหมพิริยะ (3.3)การขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ประกอบด้วยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงโธ่...น้องกลอย ผู้ขับร้อง นายธนพล สัมมาพรต (แจ๊ค ธนพล) และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงแรงก้อนสุดท้าย ผู้ขับร้อง สิบเอก กิตติคุน บุญค้ำจุน (มนต์แคน แก่นคูน) (3.4)การขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงแฟนเก่าเขาลืม ผู้ขับร้อง น.ส.ภัทริยา รัตนพันธ์ (แอม ภัทริยา) และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงเทิดทูนพระคุณท่าน ผู้ขับร้อง น.ส.ชญาภา พงศ์สุภาชาคริต (บูม ชญาภา) (3.5)การขับร้องเพลงเพื่อชีวิตชาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงรักคนอื่นไม่ได้เลย ผู้ขับร้อง นายวิชาญ ศรีฟอง (รอน อรัณย์) และรางวัลรองชนะเลิศ เพลงนักรบชุดขาว ผู้ขับร้อง นายวรพล นวลผกา (น็อต ไผ่ร้อยกอ) และ(3.6)การขับร้องเพลงเพื่อชีวิตหญิง รางวัลชมเชย เพลงมนุษย์ ผู้ขับร้อง น.ส.ณริสสา ดำเนินผล (ฟ้า ขวัญนคร)
          กรมศิลปากรได้กำหนดจัดพิธีมอบรางวัลในวันภาษาไทยแห่งชาติ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เป็นประจำทุกปี แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ได้เพิ่มความรุนแรงเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และยังไม่อาจกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดได้แน่นอน ดังนั้น ในปีพุทธศักราช 2564 จึงงดจัดพิธีมอบรางวัล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าว