องค์ความรู้เรื่อง “จักสานย่านลิเภา”
จำนวนผู้เข้าชม 24639

องค์ความรู้เรื่อง “จักสานย่านลิเภา”


          “ย่านลิเภา” หรือ “ลิเภา” (ภาษาท้องถิ่นภาคใต้เรียกเถาไม้เลื้อยว่า “ย่าน”) เป็นพืชตระกูลเฟิร์นหรือเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่ทอดเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น มีความยาวราว 1-2 เมตร บางชนิดยาวถึง 5 เมตร เมื่อแก่ลำต้นจะมีสีดำและเป็นมัน พบมากในป่าภาคใต้ของไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ด้วยคุณสมบัติที่มีความเหนียว ทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน จึงทำให้ในอดีตมีการนำย่านลิเภามาสานเป็นภาชนะและเครื่องใช้พื้นบ้านประเภทต่างๆ เช่น เชี่ยนหมาก พาน กระเป๋าถือ กระเป๋าหมาก หมวก กล่องใส่ยาเส้น ปั้นชา และขันดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น 
          ย่านลิเภาสำหรับใช้ในงานจักสานมี 2 ประเภท คือ ย่านลิเภาดำและย่านลิเภาน้ำตาล โดยจะเลือกใช้เส้นย่านลิเภาที่ด้านนอกมีสีเขียวเข้ม ด้านในมีสีน้ำตาลเข้ม เริ่มต้นด้วยการนำเส้นย่านลิเภาใหญ่ไปลอกหรือปอกเปลือกออก จากนั้นจึงนำมาผึ่งลมให้แห้ง และนำมาแบ่งเป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการใช้งาน เสร็จแล้วนำไปแช่น้ำให้ชุ่ม และนำกลับมาแบ่งเป็นเส้นที่มีขนาดเล็กลงตามความต้องการใช้งานอีกครั้ง จากนั้นจึงทำการ “ชักเลียด” ในขั้นตอนของการชักเลียดนั้น จะนำกระป๋องนมหรือสังกะสีชนิดหนามาเจาะรูให้ได้ขนาดต่างๆ ตามที่ต้องการ ประมาณ 5 รู ให้มีขนาดจากช่องใหญ่ไปยังช่องเล็กที่สุด นำเส้นย่านลิเภามารูดทีละช่องจนได้เส้นย่านลิเภาขนาดที่ต้องการ ซึ่งการเหลาเส้นจักตอกโดยวิธีชักเลียดนี้จะทำให้ตอกมีขนาดเท่ากันตลอดทั้งเส้น ผิวตอกจะเรียบลื่นสวยงาม ส่วนย่านลิเภาที่ยังไม่ได้ใช้ให้เก็บใส่ถุงพลาสติกแช่ตู้เย็นเอาไว้เพื่อกักเก็บความชื้น เมื่อนำออกมาใช้จะทำให้สานได้ง่ายกว่าเส้นลิเภาที่แห้ง 
          การจักสานย่านลิเภาจะเริ่มด้วยการสานส่วนฐานของผลิตภัณฑ์เป็นลำดับแรกด้วยวิธีการดัดให้เป็นรูปทรงที่ต้องการ อาจใช้รูปแบบการดัดหวายเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น ทรงกลม รูปทรงรี รูปทรงเหลี่ยม ส่วนการเลือกเส้นหวายสำหรับทำโครงจะต้องเลือกตัดเส้นหวายให้ได้ขนาด แล้วจึงนำมาชักเลียดหวายจนได้เป็นขนาดที่พอเหมาะสำหรับการสาน เมื่อชักเลียดหวายเสร็จแล้วจึงนำมาตัดให้ได้ขนาดตามผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกแบบไว้ จากนั้นจึงใช้เข็มเจาะนำที่หวายให้เป็นรูแล้วใช้ย่านลิเภาสอดตามเข้าไปเพื่อสานประกอบเป็นก้นของผลิตภัณฑ์ 
          การสานลายย่านลิเภามี 2 รูปแบบ คือ การสานแบบโปร่ง (หรือแบบขดขึ้นรูป) ต้องขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่ หรือ ไม้เนื้ออ่อน สานเส้นลิเภาด้วยวิธีการขัดลายคล้ายกับวิธีการสานเสื่อ ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือวิธีการสานแบบทึบ ซึ่งจะเริ่มสานจากก้นของภาชนะหรือเครื่องใช้นั้น โดยใช้หวายขดขึ้นรูปในการขึ้นโครงเป็นวงกลมแบบก้นหอย ในการสานจะต้องใช้เบ้าเป็นเครื่องกำหนดรูปทรง เวียนขึ้นไปตามเบ้าที่ใช้เป็นแบบ ตัวเบ้านิยมทำด้วยไม้เนื้ออ่อน ขึ้นรูปทรงที่ความต้องการตามเบ้า จากนั้นใช้เข็มเจาะนำแล้วสานต่อเส้นลิเภาทีละเส้นด้วยวิธีการถักเส้นลิเภาซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ยากและต้องอาศัยความละเอียดในการถัก ในขั้นตอนนี้อาจมีการสร้างสรรค์ลวดลายต่างๆ บนผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภา เช่น ลายดอกสี่เหลี่ยม ลายสอง ลายตาสับปะรด ลายลูกแก้ว ลายคชกริช ลายพิมพ์ทอง ลายเม็ดแตง ลายมัดหมี่ ลายเม็ดมะยม และลายดาวกระจาย เป็นต้น
          เมื่อได้ผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภาตามต้องการแล้ว จะต้องขัดผิวด้วยกระดาษทราย เก็บรายละเอียดหรือแต่งชิ้นงานให้มีความเรียบร้อย จากนั้นจึงใช้น้ำยาเคลือบผิวหรือชักเงาทาเพื่อเคลือบรักษาเนื้อผิวของผลิตภัณฑ์จักสานจากย่านลิเภาให้มีความคงทน เพิ่มความมันวาว สวยงาม (สมัยโบราณนิยมทาด้วยน้ำมันยางใสป้องกันมอดและแมลงบางชนิดกัดกิน) ก่อนนำประดับตกแต่งด้วยการบุผ้า หุ้มขอบด้วยถมเงินและถมทอง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ชิ้นงาน
          ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา เป็นงานหัตถกรรมเครื่องจักสานพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์พิเศษของภาคใต้ ซึ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษมาหลายร้อยปี สันนิษฐานว่าเริ่มทำกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านตั้งแต่สมัยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ที่นิยมทำกันมากในสำนักของเจ้าพระยาเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวกันว่า เจ้าเมืองนครได้เคยนำถวายเจ้านายในกรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก จนกระทั่ง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ครั้งที่ดำรงตำแหน่งพระยาสุขุมนัยวิปัต-สมุนเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้ฟื้นฟูส่งเสริมงานจักสานย่านลิเภาจนเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ชนชั้นสูงในกรุงเทพมหานคร และได้รับความนิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 5 
          จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นแหล่งผลิตงานหัตถกรรม “จักสานย่านลิเภา” ที่มีชื่อเสียงและมีกลุ่มคนที่มีทักษะฝีมือในการจักสานย่านลิเภาอยู่หลายกลุ่ม มีการสร้างสรรค์และพัฒนาการขึ้นรูปงานจักสานย่านลิเภาเป็นผลิตภัณฑ์รูปทรงต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานตามยุคสมัย โดยมีการผสมผสานกับโลหะหรือวัสดุมีค่า เช่น ทองคำ นาก เงิน งาช้าง และเครื่องถมเมืองนคร ทำให้เกิดลวดลายที่วิจิตรงดงาม มีเอกลักษณ์และคุณค่า จนทำให้เครื่องจักสานย่านลิเภาเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยมของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช 
รวบรวมโดย นางสาวอาพาภรณ์  หมื่นรักษ์  บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช
อ้างอิง
งานศิลปกรรมประเภทจักสานย่านลิเภา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.sacict.
http://or.th/.../_2c7d707bf2e9b8a3008abe05c37f96fb.pdf
จักสานย่านลิเภา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.museumthailand.com/.../%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0.../
“ย่านลิเภา” วัชพืชมากมูลค่าแห่งเมืองคอน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564 จาก https://mgronline.com/travel/detail/9500000089870
อาจินต์ ศิริวรรณ. (2562). วิถีชาวบ้าน ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.technologychaoban.com/folkways/article_116667
อ้างอิงภาพประกอบ
https://herb.in.th/
https://nakhon.live/equipment/
https://nakhon.live/procedure/
https://program.tpbs.ndev.pw/Lui/episodes/77842
https://readthecloud.co/lipao-craft-by-boonyarat/
https://www.creativethailand.net/en/article/detail/374-