จดหมายเหตุเล่าเรื่อง ตอน สลากกินแบ่งเป็นเหตุ...สังเกตุได้
จำนวนผู้เข้าชม 1382

          ‘รางวัลเลขท้ายสองตัวประจำวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เลขที่ออกคือ…’ หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับประโยคข้างต้น เพราะทุกวันที่ ๑ และ ๑๖ ของเดือนถือเป็นช่วงเวลาทองของนักเสี่ยงโชคจากรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล และมักปรากฏผู้โชคดีได้รับรางวัลที่ ๑ ผ่านสื่อต่าง ๆ กันอยู่เนือง ๆ แต่การถูกรางวัลนั้นจะเรียกว่าน่าจะขึ้นอยู่กับดวงชะตาของแต่ละบุคคลหรือบางครั้งอาจมีวิธีการหาตัวเลขนำโชคในรูปแบบความเชื่อและวิธีการต่าง ๆ ดังเช่นเมื่อ ๖๐ ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุจังหวัดนครพนม แผนกมหาดไทย เรื่อง กระทรวงมหาดไทยสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสืบสวนข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เรื่องราษฎรในภาคอิสานปั่นป่วนเพราะการหาซื้อเงินเหรียญรัชกาลที่ ๑ และ ๔ เพื่อดูเลขท้ายลอตเตอรี่ ระบุว่า
          วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้รับรายงานวิทยุสื่อสารจากกระทรวงมหาดไทย สั่งการ เรื่อง หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าขณะนี้ราษฎรภาคอีสานปั่นป่วน เนื่องจากการหาซื้อเงินเหรียญรัชกาลที่ ๑ และ ๔ ถึงกับขายบ้าน ขายนา ไม่เป็นอันทำมาหากิน โดยให้ดำเนินการสอบสวนและหาแนวทางป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม จึงดำเนินการแจ้งเวียนไปยังนายอำเภอทุกอำเภอเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า มีราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดสกลนครบางคนลักลอบไปหาซื้อเหรียญในราคาเหรียญละ ๔๐๐ บาทขึ้นไป ในบางพื้นที่ อาทิ อำเภอเมืองนครพนม กำหนดให้เหรียญรัชกาลที่ ๑ ราคาสูงถึงราคาเหรียญละ ๑๐,๐๐๐ บาท และเหรียญรัชกาลที่ ๔ ราคาเหรียญละ ๑,๐๐๐ บาท สืบเนื่องจากมีการโฆษณาจากคนรับซื้อว่าหากนำเหรียญดังกล่าวไปให้อาจารย์ปลุกเสกจะสามารถบอกเลขท้ายลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ได้อย่างแม่นยำ
          แต่ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการสอบถามจากราษฎรในจังหวัดนครพนม พบว่า ราษฎรในพื้นที่บางแห่งมีการตื่นตัวและรับรู้เหตุการณ์นี้แต่ยังไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีเหรียญลักษณะดังกล่าวขายและยังไม่มีผู้ใดขายบ้านขายนาหาซื้อเงินเหรียญ เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการแก้ปัญหาด้วยการชี้แจงให้ราษฎรทราบว่า เงินเหรียญกษาปณ์เริ่มมีใช้ในรัชกาลที่ ๔ ดังนั้นจึงไม่อาจเป็นไปได้ว่าจะมีเหรียญในลักษณะดังกล่าวออกมาจำหน่าย








------------------------------------------------------
เรียงเรียงโดย : นางสาวพัชราภรณ์ สุวรรณะ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี
------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กองกษาปณ์. (๒๕๕๗). เงินตรา. ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ ๑ ก.พ. ๒๕๖๔ จากhttp://www.royalthaimint.net/ ewtadmin/ewt/mint_web/ewt_newsphp?nid=46&filename=index) หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี. นพ ๑.๒/๔๔ กระทรวงมหาดไทยสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสืบสวนข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ เรื่อง ราษฎรในภาคอิสานปั่นป่วนเพราะการหาซื้อเงินเหรียญรัชกาลที่ ๑ และ ๔ เพื่อดูเลขท้ายลอตเตอรี่ (๒๘ มิ.ย. - ๑๐ ก.ค. ๒๔๙๙)