เปิดตำรายาโบราณ : ตำราพระโอสถพระนารายน์
จำนวนผู้เข้าชม 2724

          เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อโคโรนา ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (Covid – 19) ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ทำให้เป็นโอกาสในวิกฤติที่คนไทยจะได้กลับมาให้ความสนใจ เกิดการตื่นตัว ต่อการรับรู้ ศึกษาค้นคว้าข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้น หอสมุดแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บ รวบรวม และเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ก็ได้ปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้นำเสนอข้อมูล โดยเฉพาะความรู้ที่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ ให้กับผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้าผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ด้วยการอ่านหนังสือดีๆ จากห้องสมุดดิจิทัล D-Library ของหอสมุดแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเก่า หนังสือใหม่ หนังสือหายาก วารสาร หนังสือพิมพ์เก่า วิทยานิพนธ์และงานวิจัย รวมทั้ง VDO
on Demand
 


          “ตำราพระโอสถพระนารายน์” เป็นหนังสือหายากที่น่าสนใจมากเล่มหนึ่ง ในจำนวนหนังสือ ๑,๑๒๘ เล่ม ที่หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครจัดพิมพ์ขึ้นตั้งแต่แรกตั้งหอพระสมุดฯ เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๘ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นองค์ความรู้ที่บรรพชน ได้รวบรวมภูมิปัญญาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า ต้นฉบับเดิมเป็นหนังสือส่วนพระองค์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ครั้งดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร ประทานให้แก่ หอพระสมุดฯอยู่ในคัมภีร์ใบลานเป็นหนังสือผูก ๑ ตำรานี้เรียกว่า ตำราพระโอสถพระนารายน์ เพราะมีตำราพระโอสถที่หมอหลวงได้ประกอบถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลายขนาน ปรากฏชื่อหมอและศักราชวันคืนที่ได้ประกอบพระโอสถนั้นๆ จดไว้ชัดเจนว่าอยู่ในระหว่างปีกุน จุลศักราช ๑๐๒๑ พ.ศ. ๒๒๐๒ จนถึงปีฉลู จุลศักราช ๑๐๒๓ พ.ศ. ๒๒๐๔ คือระหว่างปีที่ ๓ - ๕ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำราพระโอสถพระนารายน์ เป็นตำรายาที่ได้รับความนิยมจึงมีการพิมพ์ถึง ๔ ครั้ง เพราะเชื่อว่าตำราพระโอสถนี้จะเป็นยารักษาโรคได้ผลดี เล่มที่นำมาเสนอ เป็นตำรายาที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ดำรัสสั่งกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณให้เลือกหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับพิมพ์พระราชทานเป็นหนังสือที่ระลึกในงานศพพระยาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดี (นาก โรจนแพทย์) หนังสือนี้ หนาถึง ๔๔ หน้า ภายในนำเสนอเนื้อหา เกี่ยวกับลักษณะเตโชธาตุ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมชองชาติ ได้ให้ความหมายของเตโชธาตุไว้ว่า เตโชธาตุ หมายถึงธาตุไฟอันมีอยู่ในร่างกาย มี ๔ อย่าง ได้แก่ ไฟสำหรับอุ่นกาย ไฟสำหรับร้อนระส่ำระสาย ไฟสำหรับเผาให้คร่ำคร่า และไฟสำหรับย่อยอาหาร โดยอธิบายลักษณะเตโชธาตุ ไว้อย่างชัดเจนว่ามีอาการร้อนปลายมือ ปลายเท้า ปวดขบมีพิษ จากนั้นเริ่มลามไปถึงบวมหน้า บวมท้อง บวมเท้า ผื่นขึ้นทั้งตัวคล้ายกับผด แล้วลามไปถึงท้อง เลือดและน้ำเหลืองมือและเท้าตาย รู้มิถึงแก้มิต้อง พร้อมด้วยโทษ ๑๕ วันตัด นอกจากนั้นเนื้อหาในตำรายังบอกถึงยาแก้เตโชธาตุพิการ จำนวน ๗ ขนานยาแก้โรคต่างๆ อีกมากมาย รวมทั้งน้ำมันนวดพระเส้นอันทพฤก น้ำมันทรงพระนขา แก้ริดสีดวง ฯลฯ ดังเช่นตำรายาน้ำมันทรงแก้พระเกศาหล่น ให้คันให้หงอก ตำราพระโอสถพระนารายน์ ได้กล่าวไว้อย่างละเอียด ดังนี้

“ขนานหนึ่งให้เอาเปลือกมะขาม รากรักขาว รากชะคราม รากผักเสี้ยนผี รากชาลีขม เครือเขา อีเหมือน หว้านพระตะบะ หว้านพระตะหึง ต้นเทียนนา บรเพ็ด ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน รากลำเจียก พรรณผักกาด สมอไทย รากพิลังกาสา ผักขวง ลูกชุมเห็ด ใบมะกา เสมอภาค สับต้ม ๔ เอา ๑ กรองจงหมดกากแล้ว เอาน้ำมันงาไชยภาคหนึ่ง น้ำยาต้ม ๓ ภาค หุงให้คงแต่น้ำมัน ทรงแก้พระเกษา หล่นแลให้คันให้หงอกเพื่อพระโรคริดสีดวง”

          นอกจากตำราพระโอสถพระนารายน์ เล่มดังกล่าวแล้ว หอสมุดแห่งชาติ ยังนำเข้าข้อมูลองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องไว้อีกหลายเรื่อง เช่น ตำรายาครรภ์รักษา ตำราพระโอสถครั้งรัชกาลที่ ๒ ตำราลักษณะไข้ เป็นต้น จึงขอเชิญชวนผู้สนใจ ได้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ Read from home อ่านออนไลน์ ลดความเสี่ยง เลี่ยง Covid-19 ได้ที่เว็บไซต์ หอสมุดแห่งชาติ www.nlt.go.th 







บรรณานุกรม
ตำราพระโอสถพระนารายน์. พิมพ์ครั้งที่ ๓. พระนคร: หอพระสมุดวชิรญาณ, ๒๔๖๖. (พิมพ์ ในงานปลงศพ นายปั่น ฉายสุวรรณ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๖๖) ตำราพระโอสถพระนารายน์. พระนคร: หอพระสมุดวชิรญาณ, ๒๔๖๐. (สมเด็จพระบรม ราชินีนารถ พระบรมราชชนนี โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานศพพระยาแพทยพงษา (นาก โรจนแพทย์) แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ. กรุงเทพฯ: สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ, ๒๕๔๒. สำนักหอสมุดแห่งชาติ. ประชุมคำนำ คำอธิบายหนังสือ ของหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม ๑ กฎหมาย ตำรา การเดินทาง. กรุงเทพ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๙.