ชวนมารู้จักชาวนาไทย ตอนที่ ๕ วิถีชีวิตบ้านบ้าน เรือนไทยภาคกลาง องค์ประกอบของเรือนเครื่องสับ
เรือนไทยภาคกลาง องค์ประกอบของเรือนเครื่องสับ
เรือนเครื่องสับ คือ เรือนที่สร้างด้วยไม้จริง โดยการประกอบเครื่องไม้เป็นส่วน ๆ เช่น ทำฝา ทำหน้าจั่วให้เสร็จก่อน แล้วจึงเตรียมโครงสร้างส่วนอื่น ๆ เช่น เสา รอด พื้น โครงหลังคา เสร็จแล้วจึงนำส่วนประกอบทั้งหมดเหล่านั้นมาประกอบกันเป็นเรือน
เรือนเครื่องสับ หรือเรือนหลังคาจั่ว เป็นเรือนใต้ถุนสูง พื้นยกสูงจนเดินรอดได้ ใช้เป็นที่พักผ่อน หรือเลี้ยงสัตว์ เก็บเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร ฝาเรือนเป็นไม้จริง ส่วนมากเป็นไม้สัก ทำเป็นแผง มีหลายแบบ เช่น ฝาปะกน หรือฝาปะกนลูกฟัก ฝาสำหรวด ฝามักสอบเข้าเล็กน้อย หน้าต่างเปิดเข้าด้านใน หลังคาจั่วลาดชัน มุงด้วยจาก กระเบื้อง หรือสังกะสี มีไม้ปิดเครื่องมุงด้านสกัดเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียก “ป้านลม” (ปั้นลม)
เรือนเครื่องสับมีทั้งแบบที่สร้างเป็นเรือนเดี่ยว ประกอบด้วยเรือนนอน ครัว ระเบียง และชาน หรือสร้างเป็นเรือนหมู่ มีเรือนนอนมากกว่าหนึ่งหลัง มีชานเชื่อมถึงกัน มีเรือนครัว หอนั่ง หรือหอนก เรือนหมู่ เป็นเรือนสำหรับครอบครัวขยาย หรือเรือนคหบดี หรือผู้มีฐานะทางสังคมสูง
ปัจจุบัน เรือนไทยภาคกลางแบบดั้งเดิมเหลือน้อย แม้มีการสร้างเรือนไทยสำหรับผู้ต้องการสร้างบ้านใหม่ในสมัยปัจจุบัน แต่รูปแบบนั้นเปลี่ยนไปจากแบบแผนเดิม
ภาพจาก รูปตัด เรือนทับขวัญ ที่มา ศาสตราจารย์ น.อ. สมภพ ภิรมย์ ร.น.,ราชบัณฑิต, ๒๕๓๘
*หมายเหตุ ภาพจากการ scan จากหนังสือตัวอักษรจึงไม่ชัด ผู้เรียบเรียงจึงได้เขียนด้วยลายมือทับเพื่อความชัดเจนของตัวอักษร
สรุป เรียบเรียงและถ่ายภาพ : นางสาวภัทรา เชาว์ปรัชญากุล ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย สุพรรณบุรี สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี
ที่มาข้อมูล รวบรวม เรียบเรียง และสรุปจาก
- โครงการจัดทำองค์ความรู้ด้านการสำรวจสถาปัตยกรรมเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน (อาคารเรือนทรงไทย) โดยกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร
- บ้านไทยภาคกลาง ศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์
- สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๑๓ เรื่องที่ ๑ เรือนไทย/เรือนไทยภาคกลาง
- สืบค้น online www.royin.go.th (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา) “เรือน”
(จำนวนผู้เข้าชม 2105 ครั้ง)