ตึกถาวรวัตถุ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดขึ้นเนื่องในโอกาส 100 ปี แห่งการสวรรคตของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ตึกถาวรวัตถุ ซึ่งตึกนี้สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงใช้เป็นพระที่นั่งทรงธรรมในการพระเมรุของพระองค์เอง ก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 จากนั้น พระราชทานเป็นที่ตั้งของหอสมุด วชิรญาณสำหรับพระนคร เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 คงให้ใช้เป็นที่เก็บหนังสือตัวพิมพ์ข่าว พระราชทานนามใหม่ว่า หอพระสมุดวชิราวุธ ปัจจุบันเป็นอาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กำเนิดอาคารถาวรวัตถุ
อาคารถาวรวัตถุ หรือตึกแดง ตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันตกของสนามหลวง ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยพระราชประสงค์ 2 ประการ
ประการแรก เพื่อให้เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย หลังจากที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมหาธาตุวิทยาลัยขึ้น ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2432 แต่ยังขาดสถานที่เรียนอันเหมาะสม จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสนาสนะสำหรับพระสงฆ์ขึ้น
ประการที่สอง ประจวบกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.2437 โดยพระราชประเพณีจะต้องสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ ตามพระเกียรติยศขึ้นที่ท้องสนามหลวง พระองค์มีพระราชดำริว่า เป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ในการสร้างสิ่งที่ไม่ได้เป็นถาวรวัตถุ เพราะสร้างใช้งานชั่วคราว เสร็จงานแล้วก็รื้อทิ้ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้อำนวยการสร้างอาคารตึกถาวรวัตถุขึ้น ณ บริเวณกุฏิสงฆ์วัดมหาธาตุด้านทิศตะวันออก ลักษณะอาคารเป็นยอดปรางค์ 3 ยอด เพื่อเป็นที่อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มาประดิษฐานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน เมื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลนั้นแล้วจะได้ถวายอาคารนี้ให้เป็นสังฆิกเสนาสนะสำหรับมหาธาตุวิทยาลัยต่อไป
แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จในรัชกาลของพระองค์ (เพราะสวรรคตก่อน) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนเสร็จ แล้วพระราชทานให้เป็นที่ตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2459
สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ตึกถาวรวัตถุนั้น ทรงให้ใช้เป็นที่เก็บหนังสือตัวพิมพ์ ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า หอพระสมุดวชิรญาณ ต่อมาและเป็นอาคารหอสมุดแห่งชาติ จนกระทั่งได้ย้ายหอสมุดแห่งชาติไปตั้งที่แห่งใหม่ที่ท่าวาสุกรี เมื่อ พ.ศ. 2508 ตึกถาวรวัตถุยังเป็นที่ตั้งสำนักงานราชบัณฑิตยสถานต่อ จนกระทั่งสำนักงานย้ายไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ตึกนี้ไม่มีการใช้งานอื่นใด กรมศิลปากร สมัยนายเกรียงไกร สัมปัชชลิต เป็นอธิบดี ได้ปรับปรุงเพื่อเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นที่องค์ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเอกสารในการปฏิรูปประเทศของรัชกาลที่ 5 เป็นมรดกโลก
(จำนวนผู้เข้าชม 702 ครั้ง)