ผลงานทางวิชาการ สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลวิชาการเชิงรุก
ของ กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี กองโบราณคดี
โครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี
โครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี ได้ถือกำเนิดจากการเกิดขึ้นของโครงการร่วมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (พิพิธภัณฑมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ) ตั้งแต่ปลายพ.ศ. ๒๕๑๖ และมีการพัฒนาเป็นโครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ ( พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๔ ) และต่อมาได้ขยายพื้นที่ดำเนินการเป็นโครงการโบราณคดีสี่ภาค และในปัจจุบันโครงการโบราณคดี ได้มีการแบ่งแยกดำเนินการตามขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของกรมศิลปากร ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๕๔
ผลการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้าทางโบราณคดี ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปี ได้สร้างความกระจ่างชัดในระดับหนึ่งเกี่ยวกับพัฒนาการทางวัฒนธรรมของมนุษย์ในประเทศไทย และผลจากการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยทางโบราณคดีพบว่าพัฒนาการทางวัฒนธรรมในประเทศไทยจะแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ซึ่งขณะนี้แต่ละภูมิภาคมีการสำรวจ ศึกษาทางโบราณคดีในระดับที่แตกต่างกันตามกรอบนโยบายและศักยภาพของนักโบราณคดี ประกอบกับการพบหลักฐานแหล่งโบราณคดีใหม่ๆ และความเจริญของเทคโนโลยีที่ช่วยในการศึกษาค้นคว้า การตั้งประเด็นคำถามการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยที่จะสร้างความเชื่อมโยงกับข้อมูลทางวัฒนธรรมในภูมิภาคอื่นๆ หรือในโลกโดยผ่านโครงการความร่วมมือกับนักวิจัยชาวต่างประเทศ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งผลจากการศึกษาค้นคว้าจะได้ข้อมูลและประเด็น ข้อสังเกตเกี่ยวกับพัฒนาการทางวัฒนธรรมในแต่ละแห่งที่กระจ่างชัดมากขึ้น
สำหรับโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี ของกองโบราณคดี ในระยะเวลาที่ผ่านมาเน้นการสำรวจ ศึกษาค้นคว้าข้อมูลแหล่งโบราณคดี โบราณสถานในพื้นที่ภูมิภาค ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของกองโบราณคดีนั้น ยังไม่มีข้อมูลในการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้าที่เข้มข้นขึ้น ดังนั้น โครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีในปีงบประมาณพ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๒ จึงกำหนดเป้าหมาย การสำรวจ ศึกษา ค้นคว้าทางโบราณคดีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยผลที่ได้จากการสำรวจ ศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดี นอกจากประโยชน์ทางวิชาการแก่หน่วยงาน สาธารณชนผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้สนใจสามารถนำไปใช้อ้างอิงต่อยอดในการดำเนินงานวิจัยทางโบราณคดีได้อย่างถูกต้องแล้ว ยังสามารถสนับสนุนการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว ได้อีกด้วย
ขอบเขตโครงการ
ดำเนินการสำรวจ รวบรวม ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับร่องรอยอยุธยาในบางกอก จากหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดจากการสำรวจวัดในเขตกรุงเทพมหานครที่พบร่องรอยหลักฐานทางด้านโบราณคดีสมัยอยุธยา ในการศึกษาจะทำการรวบรวม วิเคราะห์การกระจายตัวของหลักฐานทางโบราณคดีสมัยอยุธยา และเปรียบเทียบกับลักษณะของหลักฐานที่ร่วมสมัยในพื้นที่ต้นกำเนิด และพื้นที่ใกล้เคียง
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๐
รวบรวมรายชื่อวัดในเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด และประสานขอข้อมูลวัดร้างจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
สำรวจ รวบรวบข้อมูลวัดที่มีพระสงฆ์และวัดร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีประวัติการก่อตั้งในช่วงสมัยอยุธยาจนถึงรัชกาลที่ ๕ และกรมศิลปากรยังไม่มีการดำเนินการสำรวจมาก่อนจำนวน ๒๑๕ วัด
รวบรวมข้อมูล จัดทำบทคัดย่อ ประวัติการศึกษาทางด้านศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี ประวัติศาสตร์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน ๖๕๐ เรื่อง
พ.ศ. ๒๕๖๑
รวบรวมข้อมูล รายงานทางโบราณคดี การอนุรักษ์โบราณสถานในเขตพื้นที่เกาะเมืองอยุธยาและบริเวณโดยรอบ จำนวน ๒๐๐ เรื่อง
สำรวจ จัดทำแบบแผนผัง โครงสร้างและภาพ ๓ มิติอาคารโบราณสถานสมัยอยุธยาจำนวน ๒ แห่ง ได้แก่ วัดช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร และวัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี และจัดทำแผนผังสังเขปแสดงการใช้พื้นที่ในวัดด้วยระบบ GIS จำนวน ๑๘๖ วัด
สรุปความก้าวหน้า
การสำรวจ รวบรวม ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับร่องรอยอยุธยาในบางกอก ในเบื้องต้นพบว่าผลการสำรวจวัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ได้ดำเนินการมาในช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ โดยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นายประยูร อุลุชาฏะ และงานสำรวจ ศึกษา วิจัย เรื่อง “อยุธยาในบางกอก” ของอาจารย์ประภัสสร์ ชูวิเชียร พบว่า เป็นการเน้นสำรวจในเขตพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และขอบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันออก แต่จากการสำรวจวัดด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตามเส้นทางคลองเก่า เช่น คลองสามเสน คลองพระโขนง เป็นต้น ปรากฎร่องรอยหลักฐานโบราณวัตถุสมัยอยุธยาที่น่าสนใจเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลวัดร้างตามฐานข้อมูลของสำนักงานพระพุทธ ศาสนา แห่งชาติ และข้อมูลที่ได้จากการสำรวจสัมภาษณ์ในภาคสนาม แต่ยังสำรวจไม่พบหลักฐานอีกหลายแห่ง เช่น วัดโคกเจดีย์ (ร้าง) วัดมะขาม (ร้าง) วัดโคกน้ำผึ้ง (ร้าง) วัดเจ้าหรือวัดนก (ร้าง) วัดขรัวเทศ (ร้าง) วัดเลี่ยมโพทอง (ร้าง) และวัดเกร็ด (ร้าง)
![]() |
![]() |
อนึ่ง ผลการสำรวจวัดในปัจจุบัน พบว่า หลักฐานทางโบราณคดีที่เหลืออยู่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพจนยากที่จะสังเกตร่องรอยดั้งเดิม เช่น อุโบสถ หรือ วิหารเก่า มีการรื้อหรือซ่อมแปลงด้วยฝีมือที่ต่างจากอดีต พระพุทธรูปมีการปฏิสังขรณ์ ใบเสมามีการเปลี่ยนแปลงวัสดุและรูปแบบ ดังนั้น การศึกษาข้อมูลต่างๆ จึงตั้งอยู่บนข้อจำกัดของหลักฐานทั้งสิ้น ภาพ ๓ มิติจากเทคนิคการสแกนภาพ ๓ มิติ วัดช่องนนทรี

(จำนวนผู้เข้าชม 1574 ครั้ง)