กันตรึม
กันตรึม
 
 
เครื่องดนตรีกันตรึม

 

 
กันตรึม
          “กันตรึม” เป็นเพลงพื้นบ้านนิยมกันมากในจังหวัดสุรินทร์ เนื้อเพลงกันตรึมใช้ภาษาเขมรขับร้อง กันตรึมถือเป็นแม่บทของเพลงพื้นบ้าน และการละเล่นพื้นบ้านอื่นๆ ของจังหวัดสุรินทร์
ประวัติความเป็นมา
 
          ประวัติการเล่นกันตรึมไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด ลักษณะของเพลงกันตรึมเป็นเพลงปฏิพากย์คล้ายๆ เพลงฉ่อย เพลงเรือ หรือลำตัด จะแตกต่างที่เนื้อร้องกันตรึมเป็นภาษาเขมร
 
          ดนตรีบรรเลงประกอบ คือ กลองโทน(สก็วล) และซอ(สุกัญญา สุจฉายา ๒๕๒๕ : ๘) เหมือนกับประเทศกัมพูชา วงดนตรีกันตรึมมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของชาวสุรินทร์มาแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีแบบใดๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพ งานพิธีกรรมต่างๆ หรือใช้บรรเลงในพิธีเซ่นสรวงบูชา ทรงเจ้าเข้าผี เป็นต้น งานพิธีต่างๆ ของกลุ่มชาวไทยเขมรส่วนมากมักจะใช้วงกันตรึมบรรเลงยืนพื้นตลอดงาน
          ปัจจุบันกันตรึมใช้เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงโดยทั่วไป มีการสืบทอดตามแบบการละเล่นพื้นบ้านแบบรุ่นสู่รุ่น คือ เมื่อผู้เล่นกันตรึมคณะเดิมชราภาพ หรือย้ายถิ่นที่อยู่ ก็จะถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจเพื่อสานต่อ(สงบ บุญคล้อย ๒๕๒๒ : ๘)
 
วิวัฒนาการของเพลงกันตรึม
๑. ได้รับอิทธิพลมาจากเพลงปฏิพากย์ของเขมร ในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับเพลงปฏิพากย์ภาคกลางของประเทศไทยทั้งโครงสร้างของเพลง วิธีการแสดง และเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบ ได้แก่ กลองโทน ซอ และใช้การปรบมือเข้าจังหวะ เพลงปฏิพากย์ที่เล่นกันในประเทศกัมพูชาจะมีเพลงปรบเกอย เพลงอายัย เพลงอมตูก และเจรียงต่างๆ เป็นต้น (สุกัญญา สุจฉายา ๒๕๒๕ : ๘)
          ๒. วิวัฒนาการจากการใช้กลอง(สก็วล) ซึ่งเสียงตีกลองจะดัง “โจ๊ะกันตรึม ตรึม” จึงได้นำเสียงที่ดังนั้นมาตั้งเป็นชื่อวงดนตรี เรียกว่า “กันตรึม” การเล่นกันตรึมจะมีผู้ร้องทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ผู้แสดงจะร้อง และรำไปด้วย เป็นการรำให้เข้ากับจังหวะดนตรี ท่ารำไม่มีแบบแผนตายตัว
          ปัจจุบันคณะกันตรึมบางคณะที่ยังเล่นอยู่ก็มีแบบการรำที่ไม่แน่นอน เนื่องจากกันตรึมไม่เน้นทางด้านการรำ แต่จะเน้นที่ความไพเราะของเสียงร้อง และความสนุกสนานของท่วงทำนองเพลงกันตรึมที่มีหลากหลายมากกว่า
เครื่องดนตรี
          เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเล่นกันตรึม ประกอบด้วย กลองกันตรึม(สก็วล) ๒ ลูก ซอ(ตรัว) ๑ คัน ปี่อ้อ ๑ เลา ขลุ่ย ๑ เลา ฉิ่ง กรับ และฉาบ อย่างละ ๑ คู่ แต่ถ้ามีเครื่องดนตรีไม่ครบก็อาจจะอนุโลมใช้เครื่องดนตรีเพียง ๔ อย่าง คือ กลองกันตรึม ๑ ลูก ซอ ๑ คัน ฉิ่ง และฉาบ อย่างละ ๑ คู่
 
          ในปัจจุบัน วงกันตรึมบางคณะได้นำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ เช่น กลองชุด กีตาร์ และไวโอลิน เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไปตามความนิยมของผู้ชม
 
การแต่งกาย
          การแต่งกายทั้งของนักดนตรีและนักร้องชายหญิงไม่มีแบบแผนกฎเกณฑ์ที่แน่นอน จะแตกต่างตามความสะดวกสบาย ทันสมัยและถูกใจผู้ชม เช่น หญิงนุ่งผ้าไหมพื้นเมือง เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียง ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าไหมคาดเอว และมีผ้าขาวม้าไหมพาดไหล่ทั้งสองข้าง โดยชายผ้าทั้งสองจะห้อยอยู่ทางด้านหลัง
 
ผู้เล่นและโอกาสที่ใช้เล่น
          การเล่นกันตรึม ใช้ผู้เล่นประมาณ ๖ – ๘ คน ผู้ร้องเป็นชายและหญิง อาจจะมี ๑ – ๒ คู่ หรือชาย ๑ คน หญิง ๒ – ๓ คน แต่โดยทั่วไปนิยมให้มีชาย ๒ คน หญิง ๒ คน
          การเล่นกันตรึมจะเล่นในโอกาสต่างๆ ทั้งในโอกาสเฉลิมฉลอง งานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานโกนจุก งานบวชนาค เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และลอยกระทง เป็นต้น หรืองานอวมงคล นอกจากนี้ยังใช้เล่นในพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อพื้นบ้าน
 
วิธีเล่นกันตรึม
          วงกันตรึมจะเล่นที่ไหน ก่อนเริ่มการแสดงจะต้องมีพิธีไหว้ครูเพื่อเป็นสิริมงคล ทั้งผู้ดูและผู้เล่น เมื่อไหว้ครูเสร็จก็จะเริ่มบรรเลงเพลง เป็นการโหมโรงเพื่อปลุกใจให้ผู้ดูรู้สึกตื่นเต้น และผู้แสดงก็จะได้เตรียมตัว จากนั้นจะเริ่มแสดง โดยเริ่มบทไหว้ครูตามธรรมเนียมโบราณดั้งเดิม วิธีการร้องจะขับร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย หญิง มีการรำประกอบการร้อง ไม่ต้องใช้ลูกคู่ช่วยร้องรับบทเพลง
 
บทเพลงกันตรึม
          บทเพลงกันตรึมไม่มีเนื้อร้องเป็นการเฉพาะ แต่มักคิดคำกลอนให้เหมาะสมกับงานที่เล่น หรือใช้บทร้องเก่าๆ ที่จดจำกันมามีประมาณ ๒๒๘ ทำนองเพลง ไม่มีใครสามารถจดจำได้ทั้งหมด เพราะไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงการจดจำต่อๆ กันมาเท่านั้น
 
การแบ่งประเภทบทเพลงกันตรึม
          ๑. บทเพลงชั้นสูงหรือเพลงครู เป็นบทที่มีความไพเราะ สูงศักดิ์ ทำนองเพลงอ่อนหวานกินใจ แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ เช่น เพลงสวายจุมเวื้อด ร่ำเป็อย – จองได มโหรี และเพลงเซร้ยสะเดิง เป็นต้น
          ๒. บทเพลงสำหรับขบวนแห่ มีทำนองครึกครื้นสนุกสนาน มีการฟ้อนรำประกอบการขับร้อง มีหลายทำนอง เช่น รำพาย ซมโปง ตร็อบตุม และเกาะเบอรมแบง เป็นต้น
          ๓. บทเพลงเบ็ดเตล็ดต่างๆ เป็นบทเพลงที่มีทำนองรวดเร็ว เร่งเร้า ให้ความสนุกสนาน ใช้เป็นบทขับร้องในโอกาสทั่วๆ ไป เช่น เกี้ยวพาราสี สั่งสอน สู่ขวัญ และรำพึงรำพัน เป็นต้น ทำนองเพลงจะมีหลายทำนอง เช่น อมตูก กัจปกาซาปาดาน กันเตรยโมเวยงูดตึก กะโน้ปติงต้อง และมลบโดง เป็นต้น
          ๔. บทเพลงประยุกต์ เป็นบทเพลงที่ใช้ทำนองเพลงลูกทุ่งเข้ามาประยุกต์เป็นทำนองเพลงกันตรึม เช่น ดิสโก้กันตรึม สัญญาประยุกต์ และเตียแขมประยุกต์ เป็นต้น

(จำนวนผู้เข้าชม 7027 ครั้ง)

Messenger