ประวัติ
นับแต่อดีตที่ล่วงเลยมาเป็นเวลานานก่อน พ.ศ. ๒๔๕๔ มรดกศิลปวัฒนธรรมไทย โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม การละคร ดนตรี ฟ้อนรำ งานช่างประณีตศิลป์ การหอสมุด จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน กรม กระทรวงต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ไม่มีการรวบรวม จัดไว้ใน ความรับผิดชอบ ของหน่วยงานใด เป็นการเฉพาะ
จนกระทั่งในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ ทรงเล็งเห็นความสำคัญ "มรดกศิลปวัฒนธรรม" อันเป็นรากเหง้า ของชีวิต และบ้านเมือง จึงทรงมีพระราชดำริ ให้โอนกิจการของช่างมหาดเล็ก จากกระทรวงวัง และกรมพิพิธภัณฑ์ จากกระทรวงธรรมการ มาจัดตั้งเป็น "กรมศิลปากร" เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้โอนงานพิพิธภัณฑ์ ไปอยู่ในความควบคุมดูแลของ กรรมการหอพระสมุดฯ และได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมศิลปากรไปรวมเข้ากับราชบัณฑิตยสภา เรียกว่า "ศิลปากรสถาน"
ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๗๖ ก็ได้มี พระราชบัญญัติ จัดตั้งกรมศิลปากร ขึ้นมาใหม่ อีกครั้ง โดยสังกัด กระทรวงธรรมการ หลังจากนั้น ได้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ส่วนราชการภายใน และย้ายสังกัด เพื่อความเหมาะสม หลายครั้ง จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๑ จึงได้มีพระราชบัญญัติ โอนกรมศิลปากร มาสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ และต่อมาได้โอนมาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ถือเป็น ๑ ใน ๒๐ กระทรวงหลักของประเทศ ตามนโยบายปฏิรูประบบราชการของรัฐบาล
กรมศิลปากรได้ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการใหม่ ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ.๒๕๔๘ โดยยกเลิกสำนักสถาปัตยกรรมและหัตถศิลป์ และจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นอีก ๒ สำนัก แทน คือ สำนักช่างสิบหมู่ และสำนักสถาปัตยกรรม และตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (ฉบับที่ ๓ ) พ.ศ.๒๕๔๙ ปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารของ "สำนักงานศิลปากรที่ ๑-๑๕" ซึ่งเดิมมีฐานะเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักโบราณคดีเป็น "สำนักศิลปากรที่ ๑-๑๕" ขึ้นตรงต่อกรมศิลปากร รับผิดชอบดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของกรมศิลปากรในเขตพื้นที่ส่วนภูมิภาค และเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๐ โอนย้ายสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ.๒๕๕๐
ปัจจุบันกรมศิลปากรมีการปรับปรุงส่วนราชการใหม่ ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ได้แบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร เป็น ๒๔ สำนัก ดังนี้
กรมศิลปากร มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม สร้างสรรค์ เผยแพร่ จัดการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา สืบทอดศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทยและความมั่นคงของชาติ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลศิลปวัฒนธรรมของชาติแขนงต่าง ๆ ได้แก่ งานด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม หัตถศิลป์ นาฏดุริยางคศิลป์ ด้านเอกสาร ภาษา และหนังสือ ด้านการจัดการศึกษาศิลปวัฒนธรรม
บทบาทหน้าที่
๑. ปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมธำรงจารีตประเพณี พระราชพิธี และรัฐพิธีให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ
๒. สืบทอด สร้างสรรค์ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม
๓. ปรับเปลี่ยนระบบและกลไกการบริหารจัดการมรดกศิลปวัฒนธรรม
๔. บริหารจัดการองค์ความรู้และพัฒนามรดกศิลปวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว
๕. จัดการศึกษาเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์ สืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน
ลักษณะงานของกรมศิลปากร
ประกอบด้วยงานวิชาการและงานด้านทักษะที่ต้องอาศัยการเรียนรู้สืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ในการดำเนินงานด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ มีทั้งงานที่ต้องดำเนินการเองและงานที่ภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ หรือหน่วยงานรัฐอื่นร่วมดำเนินการ และมีนโยบายให้ความร่วมมือกับต่างประเทศทั้งในรูปแบบของรัฐต่อรัฐ รัฐต่อองค์กรเอกชนของต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ
(จำนวนผู้เข้าชม 666 ครั้ง)