บทความเผยแพร่เนื่องในวันพืชมงคล ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ : โบราณสถานพลับพลาแรกนาขวัญ (ศาลาแดง)
บทความเผยแพร่เนื่องในวันพืชมงคล ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ : โบราณสถานพลับพลาแรกนาขวัญ (ศาลาแดง)
“ประเทศของเราเป็นประเทศกสิกรรม ทั้งข้าวก็เป็นอาหารหลักของประชาชนพลเมือง การอยู่ดีกินดีของอาณาประชาราษฎร์ และความสมบูรณ์มั่งคั่งของประเทศ ยังต้องอาศัยอยู่กับการเพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยา วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐
ประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม จึงตระหนักดีถึงความสำคัญของการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะปลูก “ข้าว” ซึ่งเป็นรากฐานความมั่นคงของประเทศมาทุกยุคทุกสมัย พระมหากษัตริย์ในฐานะเกษตรบดีจึงต้องมีพระราชภารกิจในการบำรุงขวัญและกำลังใจแก่ชาวนาผู้ปลูกข้าวเลี้ยงผู้คนทั้งประเทศความจริงปรากฏเด่นชัดผ่าน “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” อันเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญยิ่งต่อการเพาะปลูกข้าวของคนไทยมาแต่โบราณกาล เพื่อเป็นมิ่งมงคลและสร้างขวัญกำลังใจแก่ชาวนาผู้ปลูกข้าว
คนไทยถือว่า “พิธีแรกนาขวัญ” นี้ เป็นพิธีที่เป็นมงคลอย่างยิ่ง โดยจะมีชาวนาจากทั่วสารทิศเดินทางมาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีจนเนืองแน่นทุกปี และทุกคนต่างก็มุ่งหวังจะได้เมล็ดข้าวมงคลซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ดีที่ผ่านการคัดพันธุ์มาแล้ว กลับไปเป็นมิ่งขวัญแก่ผืนนาของตน เมื่อพิธีการเสร็จสิ้นก็ถือว่านิมิตรหมายอันดีแห่งการเพาะปลูกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ชาวนาที่ร่วมพิธีต่างก็กรูเข้าไปยังผืนนาศักดิ์สิทธิ์ กอบเอาดินและเมล็ดข้าวด้วยใบหน้าที่เปี่ยมรอยยิ้ม ก่อนแยกย้ายกันกลับไปเริ่มต้นการหว่านไถในที่นาของตน
โบราณสถานที่สำคัญ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับ “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ที่ยังมีอยู่ คือพลับพลาแรกนาขวัญ (ศาลาแดง) ตั้งอยู่ที่วัดบัวขวัญ หมู่ ๓ ตำบลลาดหลุมแก้ว อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี
สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เพื่อใช้เป็นพลับพลาที่ประทับในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีส่วนพระองค์ ที่บริเวณทุ่งพญาไท ก่อนจะยกเลิกไปเมื่อสิ้นรัชกาล ต่อมา พลตรีพระอุดมโยธาธิยุทธ์ (สด รัตนวดี) ได้ขอพระราชทานย้ายมาปลูกไว้ที่วัดบัวขวัญ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖
พลับพลาที่ประทับหลังนี้ ลักษณะเป็นอาคารโถง หลังคาทรงจั่ว สร้างด้วยไม้สัก และทาด้วยสีแดง จึงเรียกกันว่า "ศาลาแดง” แผนผังของอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๕.๒๐ เมตร ลักษณะเป็นอาคารเครื่องไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง มีผนังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๖x๑๕.๒๐ เมตร หลังคาทรงจั่วซ้อนลด ๒ ชั้น มุงด้วยแป้นเกร็ด (กระเบื้องไม้) ออกปีกนกคลุมโดยรอบ ฝ้าเพดานเป็นกระดานแผ่นเรียบตีทับแนว พื้นปูด้วยไม้ เรือนประธานมีขนาด ๔ ห้อง ยกพื้นสูงและแบ่งกั้น ๑ ห้อง รอบ ๆ เรือนประธานทำเป็นพื้นระเบียงทั้ง ๔ ด้าน พร้อมราวระเบียงกั้นกันตก มีบันไดขึ้น ๒ ข้างที่ด้านสกัด อาคารส่วนใหญ่ทาสีน้ำมันสีแดง
พลับพลาแรกนาขวัญ (วัดบัวขวัญ) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ทะเบียน ๐๐๐๐๒๓๒ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๑๗ ง หน้า ๑๒
ข้อมูลจาก :
- โบราณสถานสำคัญของจังหวัดปทุมธานี กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร (มิถุนายน ๒๕๖๒ สงวนลิขสิทธิ์)
- หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดปทุมธานี
นางสาวภัทรา เชาว์ปรัชญากุล ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย สุพรรณบุรี สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี เรียบเรียงข้อมูลและถ่ายภาพ
(จำนวนผู้เข้าชม 1499 ครั้ง)