พระบารมีปกเกล้าชาวนาไทย ตอนที่ ๒

“จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่มีความเจริญและความสำคัญมาตั้งแต่อดีต 

ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ที่ทำรายได้เพิ่มพูนเศรษฐกิจของบ้านเมืองปีละมาก ๆ 

กล่าวทางบุคคล ชาวสุพรรณมีความเจริญในจิตใจสูง มีศีลมีธรรม มีระเบียบประเพณี มีความสมัครสมานสามัคคี 

และมีความกล้าหาญ รักชาติรักเผ่าพันธุ์ สมลักษณะคนไทยทุกอย่าง ทุกคนจึงควรมีความภาคภูมิใจในชาติภูมิ

และในตัวเอง และควรที่จะตั้งใจรักษาสิ่งที่ดีที่งามทั้งปวงนี้ไว้ พร้อมกับพยายามที่สร้างเสริมความดี ความเจริญ

 และความก้าวหน้า ให้งอกงามมั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความรู้ความฉลาด ด้วยเหตุผลรอบคอบ

 และด้วยหลักวิชาที่ถูกต้อง ซึ่งจะขวนขวายหามาได้ด้วยความสนใจใฝ่ศึกษาของทุกคน”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ (เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)

พระราชทานแก่ข้าราชการและประชาชนผู้มาเข้าเฝ้ารับเสด็จ ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙

     พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเสด็จเยี่ยมเยือน และทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญด้านการเกษตร ในส่วนของด้านการทำนานั้น ทรงเป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวนาไทยมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงทำนาด้วยพระองค์เอง


 

     พระราชกรณียกิจด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงทำนาด้วยพระองค์เอง ณ จังหวัดสุพรรณบุรี ช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๕๒๘ - พ.ศ.๒๕๔๓

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

     เครื่องมือเครื่องใช้ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ในการทรงนาในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น พระองค์พระราชทานเครื่องมือเครื่องใช้ส่วนพระองค์แก่จังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อเก็บรักษาไว้ 

     เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อทรงนา ณ บึงไผ่แขก อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย สุพรรณบุรี ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เทิดพระเกียรติแด่พระองค์ และเป็นสถานที่รวบรวมพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีที่เกี่ยวกับข้าวและชาวนา รวมถึงองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ข้าว วิถีชีวิตประเพณีของชาวนาไทยทั่วทั้ง ๔ ภาคไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย แห่งนี้



พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชและพระบาทสมเด็จพระปรเมทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว(เมื่อครั้งทรงพระเยาว์) ทรงฉายกับควายเหล็ก (รถไถนาแบบสี่ล้อ)ภายในนาข้าวทดลอง สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๔

     พระบรมฉายาลักษณ์จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ในห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย สุพรรณบุรี


(จำนวนผู้เข้าชม 826 ครั้ง)

Messenger