พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วยนิทรรศการถาวรพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แบ่งตามพระราชกรณียกิจสำคัญรวม ๑๒ ห้อง (ชั้น ๔ หอวชิราวุธานุสรณ์)
 
ห้องแรก : เสวยราชสมบัติ
 
 
 
 
 
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีพระบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง ในครั้งแรกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามขัตติยโบราณราชประเพณี เพื่อประดิษฐานความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ แต่งดการแห่เสด็จเลียบพระนคร และการรื่นเริงอื่น ๆ จนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อครบกำหนดการไว้ทุกข์แล้ว ๑ ปี นับแต่วันสวรรคตจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้มีเจ้านายและอรรคราชทูต ผู้แทนพระองค์พระราชาธิบดี และผู้แทนประธานาธิบดีจากนานาประเทศมาร่วมงานถึง ๑๔ ประเทศ 
 
           นับเป็นงานเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในแถบนี้ เสมือนเป็นการประกาศว่าพระมหากษัตริย์ไทยมีพระเกียรติทัดเทียมประมุขของ อารยะประเทศทุกประการ
 
 
 
ห้องที่ ๒ : ทัดเทียมประเทศอารยะ
 
 
 
 
 
            ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๗ ได้เกิดสงครามขึ้นในทวีปยุโรป โดยแบ่งออกเป็นฝ่ายมหาอำนาจ อันได้แก่ เยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการี กับฝ่ายพันธมิตร ได้แก่อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และรัสเซีย เป็นต้น ต่อมาสงครามนี้ได้กลายเป็นมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑
 
            ในระยะแรกของสงคราม สยามประเทศได้ประกาศความเป็นกลาง แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนาย ทหารเก่าแห่งกรม ทหารราบเบาเดอรัม พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์แก่ทายาทของทหาร ในกรมทหารราบเบาเดอรัมที่เสียชีวิตในสงคราม และสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ แห่งอังกฤษ ทรงซาบซึ้งพระทัยได้ถวายพระยศนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถวายพระยศพลเอกพิเศษแห่งกองทัพ บกสยามเป็นการตอบแทน
 
 
 
ห้องที่ ๓ : นำชัยชนะสู่สยาม
 
 
 
 
 
                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐ เพื่อรักษา ประโยชน์ของประเทศ และเพื่อรักษาความเป็นธรรมของโลกส่วนรวม พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดกองทหารอาสาสมัคร ไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ณสมรภูมิทวีป ยุโรป เมื่อสงครามโลกยุติลง กองทหารอาสาสมัครเดินทางถึง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๖๒ โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดีแก่ธงไชยเฉลิมพล โดยทรงผูกประทับดวงตราที่ยอดคันธงไชยเฉลิมพลนั้นด้วยพระองค์เอง
 
            การร่วมกับฝ่ายชนะสงครามนี้ทำให้เราสามารถแก้ไข สนธิสัญญาทางการค้าและการศาลกับนานาประเทศได้เป็นผลสำเร็จ
 
 
 
ห้องที่ ๔ : ความเป็นไทยรำลึก
 
 
 
 
 
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยเรื่องราวในประวัติศาสตร์และในวรรณคดีมาแต่ครั้งยังดำรงพระยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปตรวจพื้นที่และโบราณสถานด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะในคราวเสด็จประพาสสวรรคโลก ได้ทอดพระเนตรเตาทุเรียง ซึ่งเป็นเตาเผาเครื่องถ้วยชามสังคโลกและภาชนะที่ใช้ในบ้าน รวมทั้งกระเบื้องเคลือบบราลีและศีรษะมังกร อันแสดงถึงความรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมานานแล้ว
 
            ครั้นเสด็จเถลิงราชสมบัติ พระองค์โปรดเกล้าฯ ตั้งกองโบราณคดีขึ้นเป็นหน่วยงานหนึ่งของหอสมุดสำหรับพระนคร และทรงกระตุ้นความเป็นไทยของคนในชาติด้วยพระราชวิเทโศบายต่าง ๆ ตลอดรัชกาล
 
 
 
ห้องที่ ๕ : ซ้อมสู้ศึกศัตรู
 
 
 
 
 
                การเสียดินแดนในสมัยรัชการที่ ๕ และผลของสนธิสัญญาระหว่างประเทศบางฉบับที่จำกัดการตั้งกองกำลังทหารในบาง พื้นที่ ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงความปลอดภัยของประเทศและได้ทรงสถาปนากองเสือป่าขึ้น เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๕๔ เป็นกองอาสาสมัครสำหรับฝึกพลเรือนให้มีความรู้ ความ สามารถ เช่นเดียวกับทหารเพื่อเป็นกำลังหนุนของทหารและตำรวจ ในยามคับขัน รักษาดินแดนและพระมหากษัตริย์ เสริมกำลังกาย กำลังสติปัญญาสร้างวินัยและสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ กิจการเสือป่านอกจากจะได้รับความสนใจจากนานาประเทศแล้ว ยังเป็นต้นแบบในการจัดเตรียมกำลังสำรองของไทยในเวลาต่อมา เช่น กรมการรักษาดินแดน ไทยอาสาป้องกันชาติ และลูกเสือชาวบ้าน เป็นต้น
 
 
 
ห้องที่ ๖ : ให้สู้และอดทน
 
 
 
 
 
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวิจารณญาณรอบคอบเกี่ยวกับการฝึกคน เพราะนอกจากจะทรงฝึกเสือป่าและลูกเสือให้รู้จักการใช้อาวุธและยุทธิวิธีในสงครามแล้ว ยังมีพระราชประสงค์จะฝึกให้มีความอดทนทั้งด้านจิตใจและร่างกาย ให้สามารถช่วยตนเองและแก้ไขอุปสรรคทั้งหลายได้ทุกโอกาสด้วย จึงทรงนำเสือป่า ลูกเสือ ทหารและตำรวจเดินทางไกลรอนแรมไปตามทุ่งนาป่าเขา ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด บางครั้งในระหว่างรอนแรมไป ดินฟ้าอากาศแปรปรวนพระองค์ทรงห่วงใยลูกเสือได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกมาพักนอนในเต้นท์ที่ประทับของพระองค์และพระองค์เสด็จไปประทับศาลา วัดห่างไปอีก ๒๐ เส้น สะท้อนให้เห็นน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่าง หาที่สุดมิได้
 
 
 
ห้องที่ ๗ : อบรมคนแต่เยาว์วัย
 
 
 
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนากิจการลูกเสือขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๔ เพื่อฝึกฝนอบรมเยาวชนของชาติให้เป็นพลเมืองดี
 
มีความจงรักภักดี ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความสามัคคีในหมู่คณะ อันเป็นรากฐานความมั่นคงของชาติ
 
            ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย และเป็นประเทศที่สามของโลกที่มีกิจการลูกเสือรองจากประเทศอังกฤษ และอเมริกา และได้พระราชทาน
 
คติพจน์สำหรับคณะลูกเสือไทยว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์”
 
 
 
ห้องที่ ๘ : ปลูกฝังนิสัยโดยการสอน
 
 
 
            ด้วยความที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และโปรดสดับพระธรรมเทศนาอยู่เป็นนิจ ทรงนำประโยชน์จากพระธรรมคำสอนมาพระราชทานแก่พสกนิกรด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น บทพระราชนิพนธ์พระบรมราโชวาท และพระบรมราชานุศาสนีย์ เป็นต้น
 
            การแสดงพระบรมราชานุศาสนีย์ครั้งสำคัญ คือ เมื่อเสด็จไปประทับ ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ เนื่องในวันวิสาขบูชาทรงแสดงพระบรมราชานุศาสนีย์แสดงคุณานุคุณแห่งพระรัตน ตรัย บุพการีผู้ปกครอง และความรักชาติ แก่ข้าราชการ ทหารและพลเรือน ที่เฝ้าฯ อยู่ในขณะนั้น
 
 
 
ห้องที่ ๙ : ให้ละครช่วยอบรม
 
 
 
            พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการทรงใช้ศิลปะการแสดงละครเพื่อสื่อความคิดนี้ เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่า บทพระราชนิพนธ์ ของพระองค์มักจะสอดแทรกแนวพระราชดำริทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม คติธรรม ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วทรงเลือก บทพระราชนิพนธ์มาจัดแสดงให้เหมาะแก่กาลเทศะ ในบางคราวทรงเป็นผู้กำกับการแสดงและทรงแสดงละครด้วยพระองค์เอก เช่น ทรงแสดงเป็นนายมั่น ปืนยาว ชาวป่าในบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระร่วง เพื่อปลูกฝังความรักชาติเป็นต้น
 
 
 
ห้องที่ ๑๐ :  เกิดอุดมศึกษา
 
 
 
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องการศึกษาของชาติเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทรงพระราชดำริว่า “...การศึกษาย่อมเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นต้นเหตุแห่งความเจริญของชาติบ้านเมือง ผู้ใดอุดหนุนการศึกษา ผู้นั้นได้ชื่อว่าอุดหนุนชาติบ้านเมือง...” พระองค์ทรงริเริ่มสร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล และพระราชทานการอุดมศึกษาแก่คนไทย โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับพระราชทานเงินไว้เป็นทุนของมหาวิทยาลัย และพระราชทานที่ดินพระคลัง ข้างที่ ที่ตำบลสระปทุม เนื้อที่ ๑,๓๐๙ ไร่ ไว้เป็นอาณาเขต ทั้งยังทรงพระกรุณาเสด็จฯ ไปทรงวางศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการ ซึ่งปัจจุบันคือคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๕๘ อีกด้วย
 
 
 
ห้องที่ ๑๑ : ทดลองประชาธิปไตย
 
 
 
 
 
            ดุสิตานีเป็นเมืองจำลองเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังดุสิตและภายหลังย้ายมาที่พระราชวังพญาไท ประกอบด้วย อำเภอ ๖ อำเภอ บ้านเรือน ๓๐๐ หลังคาเรือน ถนน วัด ร้านค้า โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ประชุม พระราชวัง และสวนสาธารณะ มีนคราภิบาลทำหน้าที่บริหาร มีพรรคการเมือง ๒ พรรค มีการทดลองการเลือกตั้ง คือแบบเลือกนคราภิบาลโดยตรง และให้เลือกเชษฐบุรุษของอำเภอ แล้วจึงเลือกตั้งนคราภิบาลจากเชษฐบุรุษเหล่านั้น ฉะนั้นดุสิตธานีจึงเป็นภาพรวมของ การทดลองการปกครองระบบประชาธิปไตยในระยะแรก อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ พลัดหายไปมากที่จัดแสดงมีพระตำหนักลักษมีวิลาศ (พระตำหนักแขก) และอาคารจำลองวัดราชประดิษฐ์
 
 
 
ห้องที่ ๑๒ : ทรงนำไทยให้รุ่งเรือง
 
 
 
 
 
            “ในขั้นต้นกิจกรรมต่าง ๆ คงต้องเดินอย่างช้า ๆ เพราะมีเครื่อกีดขวางอยู่หลายอย่างที่ฉันจะต้องข้ามไป เราอยู่ในสมัยที่ลำบาก เพราะมีขนบธรรมเนียมโบราณ คอยต่อสู้ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง แต่ฉันไม่คิดยอมแพ้ ฉันหวังว่าฉันจะยังมีชีวิตอยู่นานพอ จะได้เห็นประเทศสยามได้เข้าร่วมอยู่ในหมู่ชาติต่าง ๆ โดยได้รับเกียรติและความเสมอภาคอย่างจริง ๆ ตามความหมายของคำนั้นทุกประการ”
 
            ด้วยพระราชปณิธานที่พระราชทานแก่พระอนุชาเมื่อต้นรัชกาลตลอดเวลา ๑๕ ปี ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำรัฐนาวาฝ่าคลื่นแห่งปัญญาครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อไปให้ถึงจุดหมายที่ทรวงวาดหวังไว้
 
            ด้านการศึกษา ทรงโปรดให้สร้างโรงเรียนแทนวัดประจำรัชกาล พระราชทานพระราชบัญญัติประถมศึกษา เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาตามเกณฑ์บังคับ ทรงทำนุบำรุง วิชาช่างศิลปะ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนเพาะช่าง พระราชทานการศึกษาขั้นอุดมศึกษา ด้วยการพระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย
 
            ด้านการทหาร ทรงส่งเสริมกิจการต่าง ๆ ของกองทัพบก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้แยกกรมทหารเรือออกจากกระทรวงกลาโหม และพระราชทานที่ดิน บริเวณอ่าวสัตหีบ ให้กองทัพเรือใช้เป็นฐานทัพเรือ ทางด้านการป้องกันทางอากาศ ทรงตั้งแผนกการบินขึ้นในกองทัพบก และต่อมาได้ยกขึ้นเป็นกองบินทหารบก แล้วขยายเป็นกองทัพอากาศในที่สุด
 
            ด้านเศรษฐกิจ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสภาเผยแพร่พาณิชย์และสถิติพยากรณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลในวงธุรกิจการค้า และการตลาด ทรงริเริ่มจัดตั้งกิจการพาณิชย์นาวี การไฟฟ้า บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ธนาคารออมสิน สนับสนุนค้ำจุนธนาคารไทยพาณิชย์ ยกเลิกการพนันบ่อนเบี้ย และประสบความสำเร็จในการยกเลิกสนธิสัญญาการเก็บภาษีศุลกากรที่ไทยเสียเปรียบ มานาน
 
            ด้านการคมนาคม ทรงปรับปรุงและขยายกิจการรถไฟ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระรามหกเพื่อเชื่อมการคมนาคมทางรถไฟ ทั้งช่วงเข้ามาสู่ศูนย์กลางที่หัว ลำโพง ทรงเริ่มการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศระหว่างกรุงเทพฯ-จันทบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสถานีวิทยโทรเลขถาวรขึ้นที่ ศาลาแดงและให้ใช้รหัสสัญญาณรับส่งโทรเลขเป็นภาษาไทยอีกด้วย
 
            ด้านศิลปวัฒนธรรม ทรงให้การสนับสนุนบำรุงศิลปวัฒนธรรมทุกสาขาโดยเฉพาะงานวรรณกรรม พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ผลงานไว้กว่า ๑,๒๓๖ เรื่อง และองค์การยูเนสโกยกย่องพระองค์ในฐานะปราชญ์สยาม และพสกนิกรชาวไทยถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”
 
            ด้านเสรีภาพ ทรงส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักเสรีภาพและการใช้เสรีภาพอย่างมีขอบเขต ยุคนี้เป็นยุคของการหนังสือพิมพ์เฟื่องฟู มีทั้งหนังสือพิมพ์ รายวัน รายปักษ์ รายสัปดาห์ ภาษาไทย จีน อังกฤษ รวม ๑๔๗ ฉบับ และทรงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนทางหนังสือพิมพ์ตลอดรัชกาล
 
            ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงเห็นความสำคัญ และโปรดฯ ให้สร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วชิรพยาบาล และปัตุระสภา ซึ่งต่อมาพระราชทานนามว่า“สถานเสาวภา”
 
            ด้านการเกษตรและสาธารณูปการ ทรงริเริ่มงานชลประทานเพื่อการเกษตร โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเขื่อนพระรามหก เพื่อทดน้ำและส่งน้ำเป็นเขื่อนแรกของประเทศ ทรงเปิดการประปา กรุงเทพฯ เพื่อพุทธศักราช ๒๔๕๗ ทรงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์เพื่อสร้างสวนสาธารณะ “สวนลุมพินี”
 
            ด้านยุติธรรม ทรงปฏิรูปประมวลกฎหมายและปรับปรุงการศาล ทรงจัดตั้งเนติบัณฑิตยสภาเพื่อบำรุงวิชากฎหมาย และควบคุมทนายความ
 
            สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การพระราชทานนามสกุลให้แก่ประชาชนคนไทย โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๕๕
 
            แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จสู่สวรรคาลัยกว่ากึ่งศตวรรษแล้ว แต่คนไทยทุกคนควรรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างมิรู้คลายตราบนิ รันดร์กาล
 
 
 
นิทรรศการถาวรพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
เปิดให้ชมวันจันทร์ - ศุกร์ วันละ ๔ รอบ
 
รอบเช้า เวลา   ๙.๓๐ น.และ เวลา ๑๐.๓๐ น.
 
รอบบ่าย เวลา   ๑๓.๓๐ น.และ เวลา ๑๔.๓๐ น.        
 
                                                            
 
สนใจชมนิทรรศการ ติดต่อสอบถามได้ที่ หอวชิราวุธานุสรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
 
ถนนสามเสน กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
 
โทร. ๐๒-๒๘๒๓๒๖๔, ๐๒-๒๘๒๓๔๑๙

(จำนวนผู้เข้าชม 2699 ครั้ง)