ถ้อยคำอันสุนทร บทกลอนสุนทรภู่
“ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทรไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้นเกิดในไต้ฟ้าสุธาธารขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรณพ พี่ขอภพศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภูมราเชยผกาโกสุมประทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่เป็นราชศสีห์สิงสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละอองเป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป”
ยกมาจากบทกลอนเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ ตอนพระอภัยมณีเกี้ยวพาราสี กล่าวกับนางละเวง บทกลอนที่ไพเราะ และนำคำประพันธ์นี้ไปใช้เป็นเพลงขับร้อง เป็นที่ติดหู ติดใจคนจำนวนมากจนเกิดคำถามกับผู้เขียนว่า
บาทที่ 2 ,3 และ 4 บางตำรา เป็น “แม้” ทั้งสามคำหรือ “แม้” กับ “แม้น” บ้าง จากการศึกษา พระอภัยมณี คำกลอนสุนทรภู่ เล่มที่ 2 ปี พ.ศ.2468 นั้น ปรากฏว่า “ใช้คำว่า “แม้” ในบาทที่ 2 และ 3 และ “แม่” ในบาทที่ 4 อันหมายถึงนางละเวง
สำหรับความแตกต่างระหว่างคำว่า “แม้” กับ “แม้น” นั้นลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทานพระพินิจวรรณการ เรื่องการตรวจชำระหนังสือพระอภัยมณีฉบับพิมพ์ พ.ศ.2468 ความว่า
“แม้ กับ แม้น เป็น คนละคำ แม้ เหมือนกับคำว่า“หาก” สำหรับคำว่า “แม้น” ว่า คล้าย”
ในการตรวจชำระนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แก้ “แม้น” เป็น “แม้” เพราะเนื้อความ หมายถึง “หาก” เมื่อตรวจสอบกับเมื่อเทียบกับสมุดไทยดำ กลอนอ่าน เรื่องพระอภัยมณี เล่มที่ ๑๖๓ ปรากฏว่า ใช้ “แม้น” ทั้งสองแห่ง ส่วน “แม่” นั้นตรงกัน
จะเห็นได้ว่า ถ้อยคำเพียงคำเดียว การมีตัวสะกดหรือไม่มี รวมทั้งวรรณยุกต์ผันเปลี่ยนก็แปรความหมาย และการทำหนังสือ ตรวจชำระ การวินิจฉัยคำ ในการทำหนังสือลักเล่มนั้นสำคัญยิ่ง
บทความนี้เขียนเนื่องในวันครบรอบ 237 ปีชาตกาล กวีเอกของไทย 26 มิถุนายน วันสุนทรภู่
ขอบคุณแรงบันดาลใจจากคุณพนิตนาฏ ฉัตรวิไล ผู้จัดละครเรื่อง “เว้าวอนรัก” ทำให้ผู้เขียนบทความจุดประกายและสืบค้นของคำในกลอนบทดังกล่าว รวมทั้งขอบคุณสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ และกลุ่มตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ทำให้ผู้เขียนรู้ว่าตนไม่รู้อะไรอีกมาก
ข้อมูลอ้างอิง
นริศรานุวัดติวงศ์,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยา.ลายพระหัตถ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทานพระพินิจวรรณการ เรื่องตรวจชําระหนังสือพระอภัยมณี และประชุมบทละครดึกดําบรรพ์.พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์,2494.
พระอภัยมณี คำกลอนสุนทรภู่ เล่มที่ 2.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไท, 2468.
“พระอภัยมณี.”หอสมุดแห่งชาติ .หนังสือสมุดไทยดำ.อักษรไทย.ภาษาไทย.เส้นหรดาล. ม.ป.ป. เลขที่ 163.หมวดวรรณคดี
“พระอภัยมณี.”หอสมุดแห่งชาติ .หนังสือสมุดไทยดำ.อักษรไทย.ภาษาไทย.เส้นดินสอขาว. ม.ป.ป. เลขที่ 37.หมวดวรรณคดี
ผู้เรียบเรียง: นายบารมี สมาธิปัญญา นักวิชาการเผยแพร่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
กราฟิก: นายชลิต ปรีชากุล นายช่างศิลปกรรม สำนักหอสมุดแห่งชาติ
(จำนวนผู้เข้าชม 3944 ครั้ง)